พระเจ้าช้างเผือก: ช้างเผือกของหนังไทย

โดม สุขวงศ์

พระเจ้า ช้างเผือก” เกือบจะเป็นภาพยนตร์ไทยในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพียงเรื่องเดียวที่ยังคงมีฟิล์มภาพยนตร์เต็มเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นช้างเผือกของภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งเลยที เดียวเป็นช้างเผือก เพราะความที่หามาได้ยากเย็นแสนเข็ญ และคุณค่าความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง

“พระเจ้าช้างเผือก” มิใช่ภาพยนตร์ไทยธรรมดา ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์อาชีพสร้างขึ้นเพื่อขายความบันเทิงและแสวงหาผลกำไร ทางการค้า แต่เป็นภาพยนตร์ซึ่งสร้างขึ้นโดยบุคคลสำคัญของบ้านเมือง คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนายก รัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นภาพยนตร์ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองว่าด้วยสงครามและ สันติภาพของท่านผู้สร้างและในนามของประชาชาติไทย

ทำไมนายปรีดี พนมยงค์หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงเขียนบทภาพยนตร์และลงทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นด้วยตัวเองและทำไมจึง ให้ตัวแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้พูดภาษาอังกฤษตลอดทั้งเรื่องนายปรีดี พนมยงค์ เขียนถึงเหตุผลที่ท่านแต่งเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ไว้ในคำนำหนังสือนี้ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ว่า “นิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนี้ มีพื้นเรื่องเดิมมาจากเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยอันเป็นที่รู้จักกัน ดี คือ การรุกรานของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมักจะยกเรื่องช้างเผือกจำนวนไม่กี่เชือกมา บังหน้า แต่แท้ที่จริงก็เพื่อขยายบารมีและอานุภาพส่วนตัว ความปราชัยของจ้าวผู้ครองนครที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน กระหายอำนาจ ก้าวร้าวในการต่อสู้ตัวต่อตัวกับขุนศึกของไทยที่ยิ่งใหญ่และเพียบพร้อมด้วย คุณธรรมอันสูงส่ง ชัยชนะอันเด็ดขาดของธรรมะเหนืออำนาจ การปฏิบัติตามกรุณาธรรมและเมตตาธรรมอันปรากฏในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัม พุทธเจ้า ซึ่งแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมากว่าสองพันสี่ร้อยปีก็ยังคงเป็นประดุจประทีปแห่ง ความกรุณาที่ฉายแสงนำทางจิตใจของมนุษยชาติทั้งมวลให้หลุดพ้นจากความหายนะ นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สันติภาพ เพราะว่า ชัยชนะแห่งสันติภาพนี้ มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”

พระเจ้าช้างเผือก

สาเหตุที่นายปรีดี พนมยงค์ ต้องแต่งนิยายแล้วสร้างเป็นภาพยนตร์เพื่ออุทิศแก่สันติภาพนี้ ก็เพราะบ้านเมืองไทยและโลกทั้งโลกในขณะนั้นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสงคราม หรือสันติภาพ บ้านเมืองไทยซึ่งกำลังถูกครอบงำด้วยลัทธิชาตินิยมและทหารนิยมตามแบบอย่างของ ลัทธินาซีในเยอรมันและฟาสซิสต์ในอิตาลี โดยการนำของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สงครามโลกครั้งที่สองได้ระเบิดขึ้นแล้วในยุโรป ญี่ปุ่น กำลังรบอย่างหนักอยู่ในจีน รัฐบาลไทยประกาศตัวเป็นกลาง แต่หลวงพิบูลสงครามผู้นำไทยมีท่าทีเอนเอียงไปสนิทสนมกับญี่ปุ่น ในขณะที่เน้นนโยบายต่างประเทศไปที่การเรียกร้องดินแดนอินโดจีนที่ไทยเสียแก่ ฝรั่งเศสครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ คืนจากฝรั่งเศสนายปรีดี พนมยงค์ คงจะมองการณ์ไกลเห็นว่าหากไทยกระโจนเข้าไปสู่สงครามโดยเฉพาะเข้าไปอยู่ข้าง ฝ่ายอธรรม ย่อมจะนำผลเสียหายมาสู่บ้านเมืองมากมาย ในขณะนั้นกระแสความคิดความรู้สึกในสังคมไทยเต็มไปด้วยความรู้สึกชาตินิยม จัด หลวงพิบูลสงครามได้สนับสนุนการเผยแพร่ความคิดชาตินิยมอย่างรุนแรง มีการสร้างภาพยนตร์และบทละครปลุกใจเรื่องชาตินิยมมากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่ทำจากพงศาวดารประเภทไทยรบพม่าเพื่อที่จะต้านกระแสอัน เชี่ยวกรากนี้ นายปรีดี พนมยงค์ จึงแต่งนิยายและสร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ขึ้น เหตุที่ท่านสร้างเป็นภาพยนตร์ก็น่าจะเป็นเพราะว่า ในสมัยที่โทรทัศน์ยังไม่เกิดนั้น โรงภาพยนตร์ก็คือโทรทัศน์ประจำตำบลนั่นเอง อิทธิพลของโทรทัศน์ในปัจจุบันมีอย่างไร โรงหนังในสมัยนั้นก็มีอิทธิพลดุจกัน แต่เหตุผลกลใดท่านจึงสร้างภาพยนตร์ไทยซึ่งตัวแสดงพูดภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง ก็มีผู้เข้าใจว่า เพราะท่านต้องการสื่อสารโดยตรงกับโลกภายนอกด้วย โดยเฉพาะกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแต่อนิจจา ในระหว่างที่ท่านกำลังถ่ายทำภาพยนตร์นี้อยู่ กองทัพไทยก็ถือโอกาสที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อเยอรมนีในยุโรป รุกเข้าไปในดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส ระเบิดสงครามไทย-อินโดจีนขึ้น

ท่านนำภาพยนตร์นี้ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยฉายพร้อมกันถึงสามเมืองคือ กรุงเทพฯ นิวยอร์ก และสิงคโปร์

อีกแปดเดือนต่อมา กองทัพญี่ปุ่นก็บุกอินโดจีนและบุกเข้าประเทศไทยโดยรัฐบาลจำต้องยินยอมให้ ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยและต่อมารัฐบาลก็ลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศ สงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกานายปรีดี พนมยงค์ ได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อขัดขวางกองทัพญี่ปุ่นในไทย และเพื่อร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและสหประชาชาติต่อต้านฝ่ายอักษะภาพยนตร์ เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการสื่อสารกับสหประชาชาติ โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้ท่านผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับการยอมรับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเสมือนหนังสือรับรองความเป็นผู้นำเสรีไทยของนาย ปรีดี พนมยงค์ดูเหมือนว่า เครื่องหมายเสรีไทยในประเทศไทย ก็คือรูปช้างเผือกกำลังทะยานไปข้างหน้า

วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินลงนามประกาศสันติภาพไทย ให้ถือว่าการประกาศสงครามที่รัฐบาลเคยประกาศมาก่อนหน้านี้เป็นโมฆะทำให้ชาติ ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงครามแต่…ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ได้ทำหน้าที่ประกาศสันติภาพดังกล่าวให้ไทยไว้ล่วงหน้าไปแล้ว

และนอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ด้านการเมืองแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นผลงานภาพยนตร์ไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากโรงถ่ายและบุคลากร ตลอดจนอุปกรณ์อันเป็นศักยภาพสูงสุดของโรงถ่ายภาพยนตร์ หนึ่งในสองแห่งของประเทศไทยในขณะนั้นเนื้อเรื่องย่อของ พระเจ้าช้างเผือกได้แต่งขึ้นมาจากเรื่องราวสองกรณีในประวัติศาสตร์ไทยสมัย กรุงศรีอยุธยาเมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว กรณีหนึ่งคือสงครามช้างเผือกในสมัยพระจักรพรรดิ์ ซึ่งเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่พบช้างเผือกเป็นจำนวนมาก ทำให้กษัตริย์พม่าแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งคอยหาสาเหตุจะยกกองทัพมารุกรานอยุธยาทำทีเป็นส่งทูตมาขอช้างเผือกจาก กษัตริย์ไทย ซึ่งไทยไม่ยอมให้ กษัตริย์พม่าจึงส่งกองทัพบุกไทย และตีกรุงศรีอยุธยาแตก ต้องตกเป็นเมืองขึ้นพม่าอีกกรณีหนึ่งคือสงครามยุทธหัตถี ซึ่งเป็นวีรกรรมการรบอันยิ่งใหญ่ระหว่างพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ไทยผู้ประกาศอิสรภาพกรุงศรีอยุธยาต่อสู้กันตัวต่อตัวบนหลังช้างกับ พระมหาอุปราชแห่งพม่า กรณีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งสองเรื่องนี้ นับเป็นเรื่องที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดี แต่นายปรีดี พนมยงค์ นำสองเหตุการณ์นี้มารวมเป็นเรื่องเดียวกันและตีความใหม่ด้วยทัศนะของท่าน เอง เพื่อนำเสนอปรัชญาแห่งสงครามเพื่อสันติภาพ

พระเจ้าช้างเผือกในภาพยนตร์ จึงเป็นเรื่องของ พระเจ้าจักรา กษัตริย์อโยธยาผู้เป็นธรรมราช ผู้มีเมตตาต่อประชาชนของพระองค์ พระองค์ไม่โปรดความโอ่อาหรูหราในราชสำนัก ไม่โปรดขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย เช่น ไม่ประสงค์จะมีพระสนมมากมายถึง ๓๖๕ นาง แต่พระองค์โปรดการขับช้าง และเมื่อพระเจ้าหงสาซึ่งเป็นทรราช มีจิตใจโหดเหี้ยมทารุณมักมากในกาม ส่งกองทัพบุกประเทศ พระองค์ไม่ยอมให้ช้างเผือกตามที่กษัตริย์หงสาขอ พระเจ้าจักราได้ยกกองทัพไปเผชิญทัพหงสาที่ชายแดน เพราะไม่ต้องการให้ราษฎรเดือดร้อนและได้ท้าทายให้กษัตริย์ของหงสาออกมา ต่อสู้กันตัวต่อตัวบนหลังช้างเพื่อไม่ให้ทหารต้องบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งพระองค์ได้ชัยชนะและแทนที่จะจับทหารศัตรูเป็นเชลย กลับทรงประกาศสันติภาพว่าอโยธยามิได้เป็นศัตรูกับชาวหงสา แต่เป็นศัตรูกับกษัตริย์หงสาที่โหดเหี้ยมและปล่อยทหารศัตรูกลับไป“พระเจ้า ช้างเผือก” เป็นช้างเผือกของภาพยนตร์ไทย ช้างเผือกซึ่งชาวไทยเราได้ปล่อยปละละเลยมานานหรือเกือบตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ช้างเผือกนี้ได้มีส่วนทำหน้าที่รับใช้บ้านเมืองให้รอดพ้นความหายนะถึง เวลาแล้ว ที่ชาวไทยเราจะต้องให้ความเคารพนับถือภาพยนตร์เรื่องนี้และควรจะต้องระวาง “พระเจ้าช้างเผือก” ให้เป็นภาพยนตร์ช้างเผือกของชาติไทยได้แล้ว

มูลนิธิ หนังไทย ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการจึงจัดตั้งรางวัล “ช้างเผือก” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สร้าง “พระเจ้าช้างเผือก” และรำลึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ ในฐานะมรดกภาพยนตร์อันล้ำค่าของชาติ เป็นรางวัลสำหรับมอบให้แก่ภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์ ในวงการภาพยนตร์ของนักศึกษาวิชาภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยจัดงานประกวดประจำปี ระหว่างสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นเสมือนการเสาะหา “ช้างเผือก” มาประดับวงการภาพยนตร์ของชาติ และเป็นการสืบสานพลังสร้างสรรค์ “พระเจ้าช้างเผือก” ของนายปรีดี พนมยงค์ ให้ตกทอดสู่อนุชนสืบไป

ข้อมูลจำเพาะ

ออกฉายครั้งแรก นิวยอร์ก สิงคโปร์ กรุงเทพฯ เมื่อ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ผู้อำนวยการสร้าง ปรีดี พนมยงค์
ผู้เขียนบทประพันธ์ ปรีดี พนมยงค์
ผู้ถ่ายภาพ ประสาท สุขุม A.S.C.
บันทึกเสียง ชาญ บุนนาค
ผู้ตัดต่อ บำรุง แนวพนิช
ผู้กำกับดนตรี พระเจนดุริยางค์
ผู้กำกับศิลป์ หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์
ผู้ทำบทเจรจา แดง คุณะดิลก
ผู้กำกับโขลงช้าง วงศ์ แสนศิริพันธ์
ที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีและเครื่องแต่งกาย พระยาเทวาธิราช
ผู้กำกับการแสดง สันห์ วสุธาร
ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ และ ใจ สุวรรณทัต

ผู้แสดง

พระเจ้าจักรา (พระเจ้าช้างเผือก) เรณู กฤตยากร
สมุทราชมณเฑียรแห่งอโยธยา สุวัฒน์ นิลเสน
สมุหกลาโหมแห่งอโยธยา หลวงศรีสุรางค์
เรณู (ธิดาสมุหราชมณเฑียร) ไพริน นิลเสน
เจ้าเมืองกาญจนบุรี นิตย์ มหากนก
พระเจ้าหงสาวดี ประดับ รบิลวงศ์
พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดี ไววิทย์ ว.พิทักษ์
อัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี หลวงสมัครนันทพล
สมุหราชมณเฑียรหงสา ประสาน ศิริพิเดช
องครักษ์ของอัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี มาลัย รักประจิตต์