รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับขบวนการเสรีไทย

ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

จากเรื่องราวอันเกี่ยวกับปฏิบัติการเสรีไทยทุกแง่มุม ได้ปรากฏเป็นสัจธรรมซึ่งไม่อาจจะโต้แย้งได้เลยว่า “เสรีไทย” คือปรากฏการณ์ องค์การ และบุคคล ที่ได้ทำให้ประเทศไทยก้าวออกมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเกียรติศักดิ์และเกียรติภูมิของชาติเอกราชที่คงไว้ซึ่งอธิปไตย ทั้งที่ประเทศไทยได้อนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปรุกรานและยึดครองดินแดนในจักรภพอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่นโดยเปิดเผย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพก็ได้ประกาศสงครามตอบ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามกับประเทศไทยเป็นผู้ชนะสงคราม และญี่ปุ่นมหามิตรของไทยยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข

สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง โดยที่ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนนต่อผู้ใด กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครองโดยฝ่ายที่ชนะสงคราม

ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งโดยนิตินัยเป็นคู่กรณีกับไทย ได้เป็นผู้แนะนำให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของไทยประกาศสันติภาพ ซึ่งลบล้างการปฏิบัติต่าง ๆ ของไทยนับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นเปิดฉากสงครามเป็นต้นมาเสียทั้งหมด โดยให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนสู่สถานภาพเมื่อก่อนวันดังกล่าว รวมทั้งการประกาศสงครามที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย

เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นสัจธรรมทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีพยานหลักฐานอันไม่อาจปฏิเสธได้ ความสำเร็จในการรักษาเอกราช อธิปไตย ตลอดจนเกียรติศักดิ์และเกียรติภูมิของชาติไทยในกรณีสงครามโลกครั้งที่ 2 มิใช่เกิดจากอภินิหารของสิ่งลึกลับใด ๆ และก็มิใช่เกิดจากการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมายหรือนโยบายการเมืองการทูต ประเทศไทยคงเอกราชและอธิปไตยไว้ได้ด้วยการต่อสู้ และการต่อสู้นั้นได้กระทำโดยฝ่ายปฏิบัติการ องค์การ และบุคคล ที่เรียกตนเองว่า “เสรีไทย” ถ้าหากปราศจาก “เสรีไทย” เสียแล้ว เหตุการณ์เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะต้องบันทึกไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง อันจะเป็นความขมขื่นของประชาชาติไทยไปตลอดกาล

ในขณะที่ “เสรีไทย” เป็นความร่วมมือและร่วมใจรับใช้ชาติของบรรดาคนไทยผู้รักชาติทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยความสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ของประชาชนชาวไทยทั้งชาติ การก่อตั้ง ดำเนินการ และอำนวยการ เป็นความรับผิดชอบของบุคคลกลุ่มหนึ่งจำนวนน้อยนิดที่ได้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน บุคคลกลุ่มดังกล่าวได้ปฏิบัติงานอันยิ่งใหญ่เพื่อชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักและหวงแหนภายใต้การนำของรัฐบุรุษไทยซึ่งมีนามว่า “นายปรีดี พนมยงค์” หรือ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ยอมรับในบรรดาคนไทยเท่านั้น หากในประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร นายปรีดีก็ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ไม่เฉพาะในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเท่านั้น แต่ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ประชาชนชาวไทย และรัฐบาลอันถูกต้องตามกฎหมายของไทยอันต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนสงครามด้วย การยอมรับรัฐบุรุษไทยผู้นี้ในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มี ”วันสันติภาพ” และ “ประกาศสันติภาพ” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ที่ปลดพันธนาการประเทศไทยจากฐานะของประเทศผู้แพ้สงครามโดยสิ้นเชิง และทำให้เอกราชและอธิปไตยของไทยสามารถคงความบริสุทธิ์ผุดผ่องมาตราบถึงทุกวันนี้

ขบวนการเสรีไทยได้ก่อกำเนิดขึ้นในวันที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย คือวันที่ 8 ธันวาคม 2484 โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการดังกล่าวตั้งแต่แรกเริ่ม

คณะผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยได้กำหนดภารกิจที่จะต้องปฏิบัติไว้ในชั้นแรกสองประการ คือ

  1. ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน โดยพลังคนไทยผู้รักชาติและร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร (คือ อังกฤษ สหรัฐฯ ฯลฯ)
  2. ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

ต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ภารกิจขององค์การเสรีไทยก็ได้เพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่ง คือ

  1. ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม และพยายามผ่อนหนักเป็นเบา

นายปรีดี พนมยงค์ มีความวิตกในภารกิจประการสุดท้ายนี้เป็นอย่างมากและโดยตลอด กล่าวคือได้พยายามที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เป็นประเทศผู้แพ้สงครามซึ่งนายปรีดีและผู้ร่วมในขบวนการเสรีไทยมีความมั่นใจว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องชนะสงครามแน่นอนตั้งแต่เมื่อญี่ปุ่นเปิดฉากสงคราม ทั้ง ๆ ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรุกและได้เปรียบในช่วงแรก นายปรีดีมีความเห็นว่าขบวนการเสรีไทยจะต้องทำงานทั้งในด้านการทหาร คือการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น และในด้านการเมืองการทูต คือการทำความเข้าใจกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้ได้ว่าการร่วมมือกับญี่ปุ่นเป็นการกระทำของผู้บริหารประเทศเพียงไม่กี่คน ขณะที่คนอื่น ๆ และราษฎรไทยเป็นส่วนรวมต่อต้านญี่ปุ่นและเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร การปฏิบัติงานในด้านใดด้านหนึ่งแต่เพียงด้านเดียวไม่เป็นการพอเพียง ดังจะเห็นว่าในขณะที่นายปรีดีได้จัดตั้งพลพรรคเสรีไทยที่ติดอาวุธขึ้นทั่วประเทศ ก็ได้พยายามติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยการส่งผู้แทนออกไปทำความเข้าใจ และแม้กระทั่งได้ดำริที่จะเล็ดลอดออกไปจัดตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดก็ปรากฏชัดเจนว่าปฏิบัติการทางทหารของขบวนการเสรีไทย ไม่ว่าจะเป็นพลพรรคภายในประเทศ หรือปฏิบัติการต่าง ๆ ของเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกานั่นเอง ที่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีจนถึงระดับความประทับใจในความห้าวหาญไม่เสียดายชีวิต ตลอดจนความเด็ดเดี่ยว มั่นคงในอุดมการณ์ของบรรดาเสรีไทยเหล่านั้น เป็นตัวแทนเจตนารมณ์อันแท้จริงของราษฎรไทยซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และไทยไม่ต้องถูกยึดครองภายหลังที่สงครามได้สิ้นสุดลง การเจรจาแม้จะช่วยได้บ้าง หากก็เกิดประโยชน์น้อยมาก กล่าวคือในกรณีของสหรัฐฯ ซึ่งเข้าใจดีอยู่แล้ว การเจรจาก็มิได้ช่วยให้เข้าใจดีขึ้น สำหรับในด้านอังกฤษ ซึ่งมีความข้องใจมาแต่แรกเริ่ม ก็มิได้เปลี่ยนทัศนคติอันเป็นผลจากการเจรจา การที่รัฐบาลอังกฤษให้ความเห็นชอบต่อการแนะนำให้นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ก็เพราะแม่ทัพอังกฤษมีความประทับใจและเข้าใจคนไทยซึ่งมีเสรีไทยเป็นตัวแทนและมีนายปรีดี เป็นผู้นำ

นายปรีดี พนมยงค์ ได้เตือนให้บรรดาผู้เข้าร่วมในองค์การต่อต้านญี่ปุ่นหรือขบวนการเสรีไทย ตั้งแต่แรกเริ่มการก่อตั้งว่า ทุกคนจะต้องรักษาความลับและมีวินัยอย่างเคร่งครัดที่สุด โดยจะต้องระลึกเสมอว่าญี่ปุ่นกำลังยึดครองประเทศไทยและมีอำนาจและอิทธิพลเหนือรัฐบาลไทย อีกทั้งก็มีหน่วยสืบราชการลับที่เรียกว่า “เคมเปไต” ที่มีอำนาจมาก นอกจากนั้นในระยะแรก ตำรวจและทหารไทยก็ยังมิได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย และฝ่ายปกครองก็ยังมิได้เข้าร่วม ดังนั้นสมาชิกเสรีไทยก็มีสิทธิจะได้รับความเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยด้วยเช่นกัน

ทางญี่ปุ่นก็คงจะพอทราบทัศนคติและจุดยืนของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งทำให้มีการขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา และก็เข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะนายปรีดีมีจิตใจเอนเอียงเข้าข้างอังกฤษ-อเมริกา นอกจากนายปรีดีแล้วก็มีนายวิลาศ โอสถานนท์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีอีกนายหนึ่งที่ญี่ปุ่นแสดงความรังเกียจ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะนายวิลาศขณะนั้นเป็นบุตรเขยของสกุลที่เกี่ยวข้องกับจีนคณะชาติที่เป็นศัตรูของญี่ปุ่นก็ได้ ญี่ปุ่นได้สื่อความคิดเห็นในเรื่องของนายปรีดีและนายวิลาศผ่านไปถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในกรณีของนายปรีดีนั้น ญี่ปุ่นต้องการให้พ้นไปจากคณะรัฐมนตรี โดยเสนอว่าควรแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะญี่ปุ่นทราบว่า นายปรีดีมีอิทธิพลและมีผู้นับถือศรัทธาอยู่มาก จึงไม่ประสงค์ที่จะทำสิ่งใดอันกระทบกระเทือนสัมพันธไมตรีกับประชาชนคนไทย พล.ต.ต. อดุล อดุลเดชจรัส หรือ หลวงอดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้ประสานกับนายปรีดีในเรื่องนี้ และเมื่อไม่มีข้อขัดข้องแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในการแต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในตำแหน่งที่ว่างอยู่ และสภาผู้แทนฯ ก็ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2484 ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในทางการเมืองไปอยู่ในฐานะเหนือการเมือง นายปรีดีก็ยังสามารถใช้การเปลี่ยนแปลงในฐานะให้เป็นประโยชน์ต่องานเสรีไทยได้อย่างมีประสิทธิผล

ในเบื้องแรก นายปรีดีได้ซักซ้อมความเข้าใจกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และหลวงอดุลเดชจรัส รองนายกฯ ว่า นายปรีดีจะยังคงดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองต่อไป เพราะตำแหน่งดังกล่าวมิใช่ตำแหน่งการเมือง อีกทั้งก็ได้รับตำแหน่งนี้ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมายของมหาวิทยาลัยดังกล่าว เมื่อได้ซักซ้อมความเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายปรีดีก็ได้ใช้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ เป็นที่ตั้งกองบัญชาการต่อต้านญี่ปุ่น ที่ในภายหลังเมื่อได้ร่วมเป็นขบวนการเดียวกับเสรีไทยนอกประเทศแล้ว ก็เรียกว่าขบวนการเสรีไทย

ภายหลังที่รัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นได้ตกลงทำกติกาสัญญาเป็นพันธมิตรร่วมมือกันทางทหารและในด้านอื่น ๆ แล้ว รัฐบาลไทยก็เตรียมการที่จะควบคุมตัวคนสัญชาติอังกฤษ อเมริกัน และคนของชาติฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น ๆ ไว้ในค่ายกักกันเสมือนเป็นชนชาติศัตรู ทั้งนี้เพราะหากไม่กระทำเช่นนั้น ทางญี่ปุ่นก็จะดำเนินการเอง พล.ต.ต. อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกฯ และอธิบดีกรมตำรวจ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ หลวงอดุลฯ ได้มาพบนายปรีดีเพื่อขอแบ่งส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ทำเป็นค่ายกักกันชาวต่างประเทศเหล่านั้น โดยขอให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยจัดเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแลค่ายกักกันนี้ด้วย ส่วนทางทหารนั้น ได้ตั้งให้ พ.อ. เพิ่ม มหานนท์ เป็นผู้บังคับการค่าย และ พ.ต. ม.ร.ว. พงศ์พรหม จักรพันธุ์ นายทหารกองหนุน อดีตนักเรียนนายร้อยแซนด์เฮิรสต์ซึ่งรับราชการเป็นนายตรวจศุลกากร เป็นรองผู้บังคับการค่าย

นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ได้ตกลงรับข้อเสนอของรองนายกฯ เพราะเห็นว่าคนสัญชาติอังกฤษและอเมริกันในประเทศไทยจะรอดพ้นจากการจับกุมและการควบคุมตัวของญี่ปุ่น และที่สำคัญก็คือ การช่วยเหลือคนสัญชาติสัมพันธมิตรจะทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีความรู้สึกที่ดีต่อไทย และจะผ่อนหนักผ่อนเบาให้แก่ประเทศไทยถ้าหากสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงคราม นายปรีดีได้มอบหมายให้นายวิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการมหาวิทยาลัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของกองบัญชาการเสรีไทย เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของผู้ถูกกักกันให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยจากญี่ปุ่น ซึ่งนายวิจิตรก็ได้ปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมายอย่างดียิ่ง

การณ์ได้เป็นความจริงอย่างที่นายปรีดีได้คาดไว้ การช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนสัญชาติสัมพันธมิตรในประเทศไทยให้มีความปลอดภัยและมีความเป็นอยู่ที่ดีในค่ายกักกัน ได้เป็นเหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การตัดสินใจของฝ่ายสัมพันธมิตรในการแนะนำให้นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ซึ่งปลดเปลื้องพันธนาการแห่งการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม การต้องยอมจำนน การต้องวางอาวุธ และการที่จะต้องถูกยึดครองภายหลังสงคราม

จอมพลเรือ ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบตเทน ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ ไทมส์ ภายหลังสงครามเมื่อปลายปี 2489 ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ กำลังเยือนกรุงลอนดอนว่า

ข้าพเจ้าทราบดีว่ามีบุคคลจำนวนมากที่เคยตกเป็นเชลยศึกในสยามซึ่งมีเหตุผลที่ดีในอันที่จะรู้สึกกตัญญูรู้คุณต่อความปรารถนาดีที่คุณหลวงประดิษฐฯ (นายปรีดี) มีต่อพวกเรา ดังนั้นจึงขอให้พวกเราให้การสดุดีแก่บุคคลผู้นี้ในฐานะที่เขาได้บำเพ็ญประโยชน์อย่างสูงต่ออุดมการณ์ของฝ่ายสัมพันธมิตรและต่อประเทศชาติของเขาเอง…

นอกจากนั้นในหนังสือของสโมสรกองกำลังพิเศษของอังกฤษ ซึ่งสมาชิกเป็นอดีตนายทหารอังกฤษที่เคยปฏิบัติงานในกองกำลังพิเศษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกสโมสรได้มีหนังสือลงวันที่ 17 ธันวาคม 2513 เชิญนายปรีดี พนมยงค์ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

…การเชื้อเชิญของเราเป็นเครื่องแสดงการยอมรับนับถือและความประทับใจอย่างสูงของพวกเราในบทบาทที่สูงส่งของ ฯพณฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนขบวนการต่อต้าน ซึ่งในยามที่ตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงภัยนั้น เป็นกรณียกิจที่ได้บำเพ็ญต่อประเทศของเราทั้งสอง

เหล่านี้พอจะเป็นประจักษ์พยานว่าบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ เอง ทั้งในด้านการให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือบรรดาเชลยศึกสัมพันธมิตร และในด้านความอุตสาหวิริยะในการดำเนินงานเสรีไทยโดยร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นงานที่มีอันตรายอย่างยิ่ง ได้ประทับใจบุคลากรหลายฝ่ายในด้านสัมพันธมิตรซึ่งมีผลทำให้เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อสถานภาพของประเทศไทยภายหลังสงคราม

การประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 ซึ่งได้ปฏิบัติไปโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งมีความมั่นใจมาตั้งแต่เริ่มสงครามว่าญี่ปุ่นจะต้องเป็นฝ่ายแพ้และอังกฤษ-อเมริกาจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม การอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยไปโจมตีดินแดนของอังกฤษ แม้นจะมีเหตุผลที่จะอธิบายได้ ก็เป็นการเสื่อมเกียรติภูมิของชาติอยู่มากแล้ว ต่อมารัฐบาลไทยได้ลงนามในกติกาสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น ก็ทำให้มีการผูกมัดไทยกับญี่ปุ่นมากขึ้น ในที่สุดไทยก็ได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งทำให้บรรดาสมาชิกองค์การต่อต้านหรือขบวนการเสรีไทยเพิ่มความวิตกกังวลในฐานะของประเทศไทยภายหลังสงครามยิ่งขึ้นว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงครามมีน้อยลง

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตัดสินใจว่าองค์การต่อต้านในประเทศจะต้องแสวงหาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อทำความเข้าใจกันให้จงได้ในประเด็นที่ว่าการกระทำต่าง ๆ ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้ผูกพันประชาชนชาวไทยซึ่งมิได้เข้ากับญี่ปุ่นโดยสมัครใจ และเพื่อที่จะให้เป็นที่ประจักษ์ว่าไทยอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร นายปรีดีมีความประสงค์ที่จะเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย ในเรื่องนี้ ในเบื้องแรกนายปรีดีได้ขอให้เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ จัดส่งคนที่ไว้ใจได้ออกไปเมืองจีนแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะขณะนั้น ญี่ปุ่นได้ควบคุมตรวจตราการเข้าออกประเทศไทยไว้ทุกจุด ดังนั้นตลอดปี 2485 นายปรีดีจึงไม่สามารถที่จะดำเนินการใด ๆ ได้เลย แม้กระทั่งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว สมัยที่นายดิเรก ชัยนาม ประจำอยู่ ก็ไม่สามารถจะติดต่อกับโลกภายนอกได้ จนกระทั่งเข้าปีใหม่ 2486 นายปรีดีจึงส่งผู้แทนของขบวนการใต้ดินออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้

ในการส่งผู้แทนของเสรีไทยภายในประเทศออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้เตรียมการเป็นสามเรื่องด้วยกัน คือ เรื่องแรกเป็นเรื่องของภารกิจซึ่งดังที่กล่าวข้างต้นก็ประกอบด้วยการชี้แจงให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยยังคงรักษามิตรภาพกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ชี้แจงว่าได้มีขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้นภายในประเทศซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการเป็นหัวหน้า โดยประสงค์จะเล็ดลอดออกไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเป็นรัฐบาลเสรีไทยขึ้นในอินเดียและขอให้อังกฤษและสหรัฐฯ ปลดปล่อยเงินของรัฐบาลไทยที่ฝากไว้ในประเทศทั้งสอง เพื่อรัฐบาลเสรีไทยพลัดถิ่นจะได้ใช้จ่ายในการทำสงครามกู้ชาติร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร สำหรับเรื่องที่ 2 ก็คือเส้นทางการเดินทางของผู้แทนที่จะส่งออกไปนอกประเทศ ซึ่งกำหนดให้ออกจากไทยทางอีสานผ่านลาวไปญวน และจากนั้นก็เข้าประเทศจีนทางด้านเมืองมองกาย-ตงเฮ้ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่นักธุรกิจใช้กันอยู่ เมื่อเข้าไปในจีนแล้วก็ให้ผู้แทนส่งโทรเลขถึงจอมพล เจียงไคเช็ค ดร. ที.วี. ซุง รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน แจ้งว่าได้เล็ดลอดออกมาจากประเทศไทยในภารกิจที่มีความสำคัญยิ่ง และขอให้ส่งไปจุงกิงเพื่อพบปะและรายงานตัวกับผู้นำของจีน และทูตอังกฤษและสหรัฐฯ ในจุงกิง หลังจากนั้นก็ให้ผู้แทนที่จะส่งออกไปทำการนัดหมายประชุมร่วมกันในกรุงลอนดอนระหว่างผู้แทนขบวนการใต้ดินจากเมืองไทยกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และบรรดาข้าราชการอังกฤษและสหรัฐฯ ที่เคยประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ นาย วิลิส เพ็ก อดีตอัครราชทูตสหรัฐ นายเฟรเดอริก-อาร์ ดอลแบร์ ชาวอเมริกันที่เคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศของไทย เซอร์ โจไซอา ครอสบี้ อดีตอัครราชทูตอังกฤษ และนายดับลิว.เอ.เอ็ม ดอลล์ อดีตที่ปรึกษากระทรวงการคลังซึ่งเป็นคนอังกฤษ กล่าวคือทั้งหมดนี้เป็นผู้ที่รู้จักและคุ้นเคยกับนายปรีดี พนมยงค์ การประชุมดังกล่าวก็มุ่งที่จะให้ภารกิจทั้งสองประการข้างต้นประสบความสำเร็จ

สำหรับเรื่องที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนของขบวนการใต้ดินออกไปปฏิบัติภารกิจที่ยากลำบากและมีความสำคัญต่อประเทศชาติ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบเป็นพิเศษ ประการแรก จะต้องเป็นบุคคลที่สมัครใจไปปฏิบัติภารกิจซึ่งเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งแน่นอนจะต้องเป็นผู้มีอุดมการณ์ มีความรักชาติ และมีความพร้อมที่จะเสียสละแม้กระทั่งชีวิต ประการที่ 2 จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติภารกิจระดับชาติหรือระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประการสุดท้าย จะต้องเป็นบุคคลที่จะได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับจากบรรดาบุคคลที่จะต้องไปติดต่อด้วย เป็นที่เข้าใจว่านายปรีดี พนมยงค์ คงจะใช้เวลานานพอสมควรในการเลือกบุคคลซึ่งจะมอบหมายภารกิจของชาติให้ไปปฏิบัติ และสุดท้ายก็ได้เลือกนายจำกัด พลางกูร คนหนุ่มวัย 27 ปี บัณฑิตเกียรตินิยมจากบัลลิโอลคอลเลจ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด หนึ่งในจำนวนสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านภายในประเทศและเป็นผู้ที่รู้จัก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นส่วนตัว และมีน้องชายร่วมสายโลหิตกำลังศึกษาอยู่ทั้งในอังกฤษ (ดร. กำแหง) และในสหรัฐฯ (ดร. บรรเจิด) ถึงแม้นายจำกัดจะมีอายุน้อย และมิได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั้งปวง แต่ก็จะหาผู้ใดที่จะเหมาะสมโดยคุณสมบัติยิ่งไปกว่าเขาได้ยาก นายปรีดี พนมยงค์ ส่งนายจำกัดออกไปเมืองจีนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2486

นายจำกัด พลางกูร ได้บากบั่นปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจนกระทั่งเป็นผลสำเร็จ กล่าวคือแม้จะไม่สามารถทำให้เกิดรัฐบาลเสรีไทยพลัดถิ่นในอินเดียได้ แต่เขาก็ได้ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน ได้รับทราบว่าได้มีขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้า ที่พร้อมจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงครามกับญี่ปุ่น ข้อมูลที่นายจำกัดได้นำออกมาจากประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลในทางการเมืองมากกว่าทางการทหาร เป็นที่สนใจของบรรดาหน่วยปฏิบัติการลับของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรและหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านการเมืองและความสัมพันธ์ต่างประเทศ สถานทูตอังกฤษและสถานทูตสหรัฐฯ ในจุงกิงได้รายงานเรื่องนายจำกัดและองค์การต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทยไปยังรัฐบาลที่กรุงลอนดอนและกรุงวอชิงตัน อย่างไรก็ตามทางด้านอังกฤษให้ความสนใจในประโยชน์ขององค์การใต้ดินภายในประเทศไทยในแง่การทหารเป็นเบื้องแรก ทั้งนี้เพราะอังกฤษกำลังทำสงครามกับญี่ปุ่นซึ่งใช้ประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการ ความสนใจของอังกฤษมุ่งไปที่ว่าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นที่จัดตั้งขึ้นในไทยจะอำนวยประโยชน์ในทางทหารให้แก่อังกฤษได้อย่างไรและมากน้อยเพียงใด ในการนี้อังกฤษได้ส่ง พ.ต. ม.จ. ศุภสวัสดิวงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ สมาชิกอาวุโสของเสรีไทยสายอังกฤษ ซึ่งประจำอยู่ในกองทัพบกอังกฤษ เดินทางจากอินเดียไปยังจุงกิงเพื่อพบกับนายจำกัด พลางกูร ม.จ. ศุภสวัสดิฯ พร้อมด้วย พ.ต. ครุต อดีตผู้จัดการบริษัทไฟฟ้าวัดเลียบ ได้พบนายจำกัดในจุงกิงในเดือนสิงหาคม 2486 ที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ

ม.จ. ศุภสวัสดิฯ ทรงได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์หลายประการจากนายจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงเชื่อว่านายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นบุคคลที่มีอุดมการณ์ เป็นผู้รักชาติ เป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและความยุติธรรม และเป็นผู้เลื่อมใสในประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เมื่อได้เชื่อว่าในประเทศไทยมีองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งประสงค์ที่จะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเป็นองค์การที่มีบุคคลระดับสูงสุดที่เชื่อถือได้เป็นผู้นำ พ.ต. “อรุณ” หรือ ม.จ. ศุภสวัสดิฯ ก็ได้ดำเนินการประสานการปฏิบัติการของกองกำลัง 136 ของอังกฤษกับเสรีไทยภายในประเทศไทย โดยได้จัดหาคนเดินสารจากเมืองจีนไปพบนายปรีดีในกรุงเทพฯ ซึ่งถือหนังสือนัดหมายให้องค์การต่อต้านในประเทศไทยจัดการรับนายทหารเสรีไทยซึ่งจะเดินทางโดยเรือดำน้ำมาขึ้นบกที่พังงาในเดือนธันวาคมของปีนั้น อย่างไรก็ตาม กว่าที่ผู้เดินสารจะนำหนังสือมามอบให้นายปรีดี พนมยงค์ ในกรุงเทพฯ ได้ ก็เข้าไปกลางปี 2487 คือภายหลังวันนัดหมายหลายเดือน ซึ่งทำให้ปฏิบัติการ ”พริชาร์ด” ของกองกำลัง 136 ที่จะส่งนายทหารเสรีไทยเข้าประเทศไทยโดยทางเรือดำน้ำประสบความล้มเหลว ด้วยความมั่นใจในองค์การฯ ในประเทศไทย กองกำลัง 136 ของอังกฤษก็ได้พยายามส่งเสรีไทยสายอังกฤษเข้าประเทศไทยอีก โดยการกระโดดร่มจากเครื่องบินภายใต้ปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่นถึงสองชุด

ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษที่ได้รับมอบหมายจากกองกำลัง 136 ให้เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น ภายหลังที่ปฏิบัติการพริชาร์ด ซึ่งก็มี ร.ต. ป๋วยเป็นหัวหน้าชุดเช่นกัน ได้ถูกยกเลิกไป เพราะไม่มีผู้มาคอยรับที่ชายฝั่ง เหตุผลที่ ร.ต. ป๋วยได้ถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าชุด ก็มิใช่เพียงว่าเป็นผู้อาวุโสและมีบุคลิกเป็นผู้นำเท่านั้น แต่เนื่องจาก ร.ต. ป๋วยเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย และเป็นนักเรียนทุนกระทรวงการคลัง ซึ่งมีนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดังกล่าว ที่สำคัญก็คือ นายปรีดีเคยรู้จัก ร.ต. ป๋วยมาบ้าง ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ก็ทราบดีว่า ร.ต. ป๋วยเป็นใคร ทางกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตามีความหวังอย่างยิ่งว่าชุดเสรีไทยภายใต้การนำของ ร.ต. ป๋วยจะสามารถประสานงานกับขบวนการเสรีไทยภายในประเทศได้เป็นอย่างดี และด้วยเครื่องรับ-ส่งวิทยุที่มีติดตัวเข้าไปด้วย คณะแอพพรีซิเอชั่นจะสามารถส่งข่าวออกมาจากประเทศไทยได้

ปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น 1 ซึ่งกระโดดร่มลงที่บ้านน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 และปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น 2 ที่กระโดดร่มลงที่นครสวรรค์ในวันที่ 3 เมษายน มิได้ส่งข่าวใด ๆ ออกไปให้ทางกัลกัตตาได้ทราบ ทั้งนี้จนกระทั่งกลางเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน จึงมีสายลับนำสารของ ร.ต. ป๋วยที่เขียนไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมและเป็นรหัสที่ต้องถอดออก ซึ่งเป็นข่าวจากกรุงเทพฯ ชิ้นแรกที่แผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตาได้รับ ในสารนั้น ร.ต. ป๋วยได้รายงานว่าทุกคนปลอดภัยและกำลังอยู่ในความอารักขาของตำรวจสันติบาล ตลอดจนให้กัลกัตตาคอยรับฟังสัญญาณทางวิทยุที่จะส่งออกมา ในที่สุดการติดต่อทางวิทยุระหว่างกัลกัตตากับกรุงเทพฯ โดยสถานีวิทยุเจบีเจ ของ ร.ต. ป๋วยหรือในนามตามรหัสว่า “เข้ม” ก็เป็นผลสำเร็จในวันที่ 17 สิงหาคม 2487 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไทยจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น พ.ต. ควง อภัยวงศ์ แล้วกว่าสองสัปดาห์

เมื่อนายปรีดีได้รับรายงานว่านายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นหนึ่งในจำนวนพลร่มที่เครื่องบินสัมพันธมิตรมาปล่อยลงในประเทศไทย และได้ถูกตำรวจนำไปอารักขาไว้ที่สันติบาล ก็ได้ให้นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ติดต่อกับ ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะ นายตำรวจผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลบรรดาเสรีไทยที่เล็ดลอดเข้ามาในประเทศไทย ให้ช่วยเหลือนำตัว ร.ต. ป๋วยมาพบที่บ้านของนายวิจิตรที่บางเขน ร.ต.อ. โพยม และ ร.ต. ป๋วยเป็นอัสสัมชนิกด้วยกัน ดังนั้นในเวลาไม่ช้า ร.ต. ป๋วยก็ได้พบกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทั้งนี้โดยอธิบดีกรมตำรวจไม่ทราบ

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีสาส์นจากลอร์ด เมานท์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์มามอบให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ (สาส์นดังกล่าวนี้อาจทำเป็นไมโครฟิล์ม เช่นเดียวกับในกรณีที่ พ.ต. ม.จ. ศุภสวัสดิวงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ได้ให้ผู้เดินสารจากจุงกิงนำไปมอบให้แก่นายปรีดีเพื่อนัดหมายการรับเสรีไทยสายอังกฤษที่จะมาขึ้นบกที่พังงาเมื่อปลายปี 2486) ในลักษณะเป็นการให้กำลังใจและเสนอความช่วยเหลือและความร่วมมือทางทหารโดยให้มีการติดต่อกัน อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2487 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณสี่เดือนเต็ม ๆ นั้น คณะนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษทั้งหกนาย และต่อมาเพิ่มขึ้นอีกสองนายที่เข้าประเทศไทยทางเรือดำน้ำที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ตั้งแต่ปลายปี 2486 อยู่ในความอารักขาของ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรองนายกรัฐมนตรี โดยมิได้ปฏิบัติงานใด ๆ และเครื่องรับส่งวิทยุที่เอาเข้ามาด้วย ทางตำรวจก็เก็บเอาไปและไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ ระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงสุดท้ายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ พ.ต. ควง อภัยวงศ์ เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2487 โดยเป็นรัฐบาลที่มีนายปรีดี พนมยงค์ ฯ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยอยู่เบื้องหลัง คณะนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษซึ่งมี ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นหัวหน้าชุด ก็ได้รับอนุญาตให้ส่งวิทยุติดต่อกับฐานทัพที่อินเดียได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ยังมิได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย การรับส่งวิทยุต้องกระทำโดยปกปิดมิให้ พล.ต.อ. อดุลทราบ ทั้งนี้โดยความช่วยเหลือของ พ.ต.ต. โพยม จันทรัคคะ สารวัตรตำรวจสันติบาลที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจให้ดูแลเสรีไทยจากนอกประเทศ ในที่สุดสถานีวิทยุเจบีเจของ ร.ต. ป๋วยก็สามารถติดต่อกับกัลกัตตาและแคนดีได้ในเดือนสิงหาคม 2487 ซึ่งหมายถึงการเชื่อมกิจการเสรีไทยภายในประเทศกับปฏิบัติการของกองกำลัง 136 แผนกประเทศสยามได้เป็นครั้งแรก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2487 นายปรีดี พนมยงค์ ก็สามารถติดต่อกับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรได้ ซึ่งต่อมาในวันที่ 7 กันยายน 2487 ร.ต. กฤษณ์ โตษยานนท์ และ ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ พร้อมด้วยสาส์นของลอร์ด เมานท์แบตเทน และสัมภาระ ก็ได้กระโดดร่มลงที่บริเวณหัวหิน-ปราณบุรี โดยนายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบให้นายชาญ บุนนาค และหลวงบรรณกรโกวิทไปจัดการรับเข้ากรุงเทพฯ ทั้งนี้โดยทาง พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ไม่ทราบเช่นกัน

ข่าวการเดินทางมาประเทศจีนของนายจำกัด พลางกูร ในฐานะตัวแทนขององค์การใต้ดินในประเทศไทย ได้รับทราบในกรุงวอชิงตันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2486 ภายหลังที่กลุ่มนายทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 ได้ออกเดินทางจากบัลติมอร์สู่อินเดียไม่กี่วัน และก่อนที่ พ.ท. ม.ล. ขาบ กุญชร จะบินจากสหรัฐฯ ไปเตรียมรอรับที่จุงกิง ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.ล. ขาบ กุญชร ความลังเลใจในการยอมรับความเป็นจริงที่เกี่ยวกับนายจำกัดในส่วนของอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน การกีดกันของฝ่ายหน่วยสืบราชการลับของจีนที่ไม่ต้องการให้ทางอเมริกันได้ติดต่อโดยตรงกับผู้แทนจากองค์การใต้ดินจากเมืองไทย และแม้กระทั่งความเฉยเมยในส่วนของ โอ.เอส.เอส. ต่อการเดินทางมาจุงกิงของนายจำกัดเหล่านี้ ทั้งในแต่ละประเด็นและทั้งที่เกี่ยวพันกัน ได้ทำให้นายจำกัดไม่สามารถจะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางด้านอเมริกันเลย แม้กระทั่ง ม.ล. ขาบจะใช้ความพยายามใด ๆ ในจุงกิงอยู่เป็นเวลานาน ก็ไม่อาจจะทราบว่านายจำกัดอยู่ที่ใดในเมืองเดียวกัน

ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2486 ภายหลังที่รอฟังข่าวจากนายจำกัด พลางกูร ที่ทราบว่าได้เดินทางไปถึงเมืองจีนแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม ศกเดียวกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับข่าวความคืบหน้า นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตัดสินใจส่งผู้แทนขององค์การใต้ดินออกไปประเทศจีนอีกคณะหนึ่ง ประกอบด้วย นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475 และผู้อำนวยการโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังและครอบครัว นายแดง คุณะดิลก นักเรียนกฎหมายอังกฤษ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ นายกระจ่าง ตุลารักษ์ น้องชายนายสงวน และนายวิบูลย์วงศ์ วิมลประภา อดีตนักเรียนฝรั่งเศส โดยนายสงวนและนายแดงเป็นผู้แทน ส่วนผู้อื่นเป็นผู้ติดตาม นายสงวน ตุลารักษ์ และคณะ เดินทางถึงจุงกิงในเดือนกันยายน ซึ่งขณะนั้นคณะนายทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 ได้เดินทางมาถึงจุงกิงแล้ว นายสงวนและ ม.ล.ขาบได้พบกับนายจำกัด พลางกูร ซึ่งขณะนั้นกำลังป่วยหนัก และได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ศกเดียวกัน การเดินทางมาถึงจุงกิงของนายสงวน ตุลารักษ์ กับคณะ เป็นการยืนยันความจริงที่ว่าได้มีองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นหรือเสรีไทยในประเทศไทย โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้า และขบวนการนี้ประสงค์จะติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร อีกทั้งร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามขับไล่ทหารญี่ปุ่นให้พ้นประเทศไทย คณะเสรีไทยที่จุงกิงได้ทดสอบดูแล้วเห็นว่านายสงวนกับคณะมีความจริงใจ ดังนี้จึงได้ร่วมกันแสดงเจตนาที่จะสละเงินเดือนมอบให้ทาง โอ.เอส.เอส. เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยทางเครื่องบินของนายสงวน ตุลารักษ์ และนายแดง คุณะดิลก จากจุงกิงไปวอชิงตัน นายสงวนและนายแดงเดินทางถึงกรุงวอชิงตันในปลายเดือนพฤศจิกายน 2486 และพำนักอยู่ในกรุงวอชิงตันประมาณสามเดือนจึงเดินทางข้ามไปอังกฤษ และสุดท้ายทาง โอ.เอส.เอส. ได้ส่งไปช่วยปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการ 404 ที่เมืองแคนดี ลังกา สำหรับนายแดง คุณะดิลก นั้น เมื่อทางอังกฤษสามารถติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ ได้ทางวิทยุเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2487 แผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ก็ได้ทำเรื่องขอตัวนายแดงมาช่วยปฏิบัติงานทางอังกฤษ โดยกำหนดจะให้กระโดดร่มลงในไทย

การเดินทางไปกรุงวอชิงตันของนายสงวน ตุลารักษ์ และนายแดง คุณะดิลก นั้นเป็นประโยชน์ต่อแผนปฏิบัติการเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างยิ่ง โดยภูมิหลัง นายสงวน ตุลารักษ์ มีความใกล้ชิดและสนิทสนมกับนายปรีดีมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยนายสงวนซึ่งสำเร็จจากโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและสอบเป็นเนติบัณฑิตได้ มาร่วมงานกับนายปรีดีด้านการจัดพิมพ์เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมาย ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่นักเรียนกฎหมายที่สนใจ นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้าและมีอุดมการณ์ อีกทั้งเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์มั่นคงและรักษาความลับได้ ตลอดจนมีความกล้าหาญไม่พรั่นพรึงต่อภยันตรายและความยากลำบาก ด้วยคุณลักษณะดังกล่าวนี้ นายปรีดีจึงได้ชักชวนให้นายสงวน ตุลารักษ์ เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยในสายของนายปรีดี ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายสงวน ตุลารักษ์ รับราชการในกรมราชฑัณฑ์ และต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบกระทรวงการคลัง ในตำแหน่งสุดท้ายนี้ นายสงวนได้ใช้อ้างในการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาวัตถุดิบป้อนโรงงานดังกล่าว การที่นายสงวน ตุลารักษ์ มีความใกล้ชิดกับนายปรีดีจึงได้รับความไว้วางใจและมีความเข้าใจในความคิดอ่านของนายปรีดีในระดับหนึ่ง

ในกรุงวอชิงตัน ประโยชน์เบื้องแรกของนายสงวน ตุลารักษ์ ก็คือการแจ้งให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ทราบถึงขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ และความมุ่งหมายต่าง ๆ ของนายปรีดี พนมยงค์ ในปฏิบัติการเสรีไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความคิดระหว่างอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กับนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีนายสงวน ตุลารักษ์ ผู้ซึ่ง ม.ร.ว. เสนีย์มีความเกรงใจ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานประโยชน์ ต่อไปก็คือการได้เข้าชี้แจงเรื่องของขบวนการฯ ในประเทศไทย และความประสงค์ของนายปรีดีในอันที่จะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร รวมถึงการให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศไทยในช่วงนั้น ซึ่งทางสหรัฐฯ มีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง ข้อมูลจากนายสงวนได้ทำให้สหรัฐฯ มีนโยบายที่จะรีบส่งคนเข้าไปติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ เพื่อประสานปฏิบัติการระหว่างสหรัฐฯ กับเสรีไทยภายในประเทศ ซึ่งความมุ่งหมายมีความกว้างขวางและลึกซึ้งเกินไปกว่าด้านความร่วมมือทางทหาร หากขยายไปครอบคลุมในด้านการเมืองและเศรษฐกิจในภายหลังสงคราม นอกจากนั้นสหรัฐฯ ก็ยังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรองนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งมีขอบข่ายอิทธิพลที่กว้างขวาง ทั้งโดยทางส่วนตัวและในฐานะผู้บังคับบัญชาของกองทัพตำรวจทั่วประเทศ และเป็นบุคคลสำคัญของไทยผู้หนึ่งที่มีจิตใจฝักใฝ่ทางฝ่ายสัมพันธมิตร และชิงชังญี่ปุ่นในฐานะผู้รุกราน ข้อมูลที่สำคัญนี้ได้นำไปสู่นโยบายที่จะติดต่อให้หลวงอดุลฯ กับนายปรีดีร่วมมือกันในปฏิบัติการเสรีไทยภายใต้ความสนับสนุนอย่างแข็งขันในทุกด้านของสหรัฐอเมริกา โดยที่ในช่วงเวลาที่นายสงวนอยู่ในวอชิงตัน เสรีไทยสายอเมริกาสามนาย คือ ร.ท. บุญมาก เทศะบุตร ร.ต. วิมล วิริยะวิทย์ และ ร.ต. อานนท์ ศรีวรรธนะ ซึ่งได้รับการฝึกหลักสูตรข่าวกรองพิเศษและมอบหมายให้เดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อติดต่อกับบุคคลชั้นหัวหน้าขององค์การใต้ดิน อันเป็นการเตรียมการสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ ที่จะเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย กำลังจะเสร็จสิ้นการฝึกและเตรียมตัวที่จะออกเดินทางไปอินเดีย นายทหารเสรีไทยกลุ่มดังกล่าวจึงได้พบปะและรับทราบข้อมูลที่มีประโยชน์หลายด้านสำหรับการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับหลวงอดุลเดชจรัส

ในขณะเดียวกัน นายสงวน ตุลารักษ์ และนายแดง คุณะดิลก ในฐานะตัวแทนของนายปรีดี พนมยงค์ และขบวนการใต้ดินในประเทศไทย ก็ยังได้ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่บรรดาเสรีไทยสายอเมริกา ทั้งที่เป็นทหารและที่เป็นพลเรือน ในการรับใช้ชาติบ้านเมือง เสรีไทยสายอเมริกาจำนวนไม่น้อยในขณะนั้นกำลังมีความรู้สึกขาดความมั่นใจในวัตถุประสงค์ของการทำงานเสรีไทย อีกทั้งมีความไม่แน่ใจว่าผลจากความเสียสละอย่างสูงของตนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยหรือไม่ เสรีไทยสายอเมริกาที่เป็นทหารได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไม่รบเพื่ออเมริกาหรือเพื่อสถานทูตไทย แต่จะอุทิศชีวิตเพื่อชาติไทย สิ่งที่บรรดาเสรีไทยสายอเมริกาต้องการก็คือประมุขของพวกเขา-หัวหน้าขบวนการเสรีไทยทั้งหมด ซึ่งแน่นอนจะต้องมิใช่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หรือ ม.ล. ขาบ กุญชร บุคคลดังกล่าวจะต้องอยู่ในประเทศไทย และเป็นบุคคลที่มีทั้งอุดมการณ์และขีดความสามารถในการปฏิบัติงานในระดับสูงเพื่อชาติ บุคคลสำคัญในประเทศไทยในขณะนั้นซึ่งได้เคยพิสูจน์ผลงานในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 บางคนได้อยู่ในข่ายของการพิจารณา และผู้หนึ่งในจำนวนนั้นซึ่งก็มีคุณสมบัติเหนือบุคคลอื่น ๆ ทั้งหมด ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ นายสงวน ตุลารักษ์ และคณะได้ช่วยทำให้การตัดสินใจเลือกหัวหน้าขบวนการเสรีไทยง่ายขึ้นมาก

การเดินทางจากฐานปฏิบัติการซือเหมาลงมาทางทิศใต้และเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคเหนือของนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาได้เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2487 พ.ท. ม.ล. ขาบ กุญชร ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเสรีไทยกลุ่มดังกล่าวนี้ ได้คัดเลือกครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด 21 นายให้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยอีกครึ่งหนึ่งให้ประจำอยู่ที่ฐานฯ เพื่อคอยรับสัญญาณวิทยุที่อีกกลุ่มหนึ่งจะรายงานเข้ามา ขณะนั้นทั้งเจ้าหน้าที่ของ โอ.เอส.เอส. และนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาเกือบจะมั่นใจได้แล้วว่าบุคคลผู้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ คือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งเสรีไทยสายอเมริกามีแนวโน้มอย่างสูงที่จะยอมรับเป็นประมุขของเสรีไทยทั้งหมดและพร้อมที่จะรับคำสั่งจากบุคคลผู้นั้น อย่างไรก็ตาม การเดินทางโดยทางเท้าจากตอนใต้ของเมืองจีนเข้าสู่ประเทศไทยเต็มไปด้วยความยากลำบากแสนสาหัสและมีอันตรายรอบด้าน จนกระทั่ง ร.ท. สมพงษ์ ศัลยพงษ์ และ ร.อ. การะเวก ศรีวิจารณ์ ต้องสละชีพเพื่อชาติไปเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ศกนั้น นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาจากซือเหมา เริ่มทยอยเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2487 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้ขบวนการเสรีไทยภายใต้นายปรีดี พนมยงค์ สามารถปฏิบัติการได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม บรรดานายทหารเสรีไทยสายอเมริกาที่เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมดแปดนายก็ตกอยู่ในความอารักขาของอธิบดีกรมตำรวจเช่นเดียวกับเสรีไทยสายอังกฤษแปดนายซึ่งล่วงหน้าเข้ามาก่อน ทั้งนี้จนกระทั่ง พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ได้ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในปลายเดือนกันยายน 2487 ในช่วงก่อนหน้านั้น นายทหารเสรีไทยจากซือเหมาเพียงผู้เดียวที่หลวงอดุลฯ ได้พาไปพบนายปรีดี พนมยงค์ คือ ร.ท. อานนท์ ณ ป้อมเพชร ในฐานะที่เป็นน้องชายของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ นอกนั้นนายปรีดีได้พบหรือได้ร่วมปฏิบัติงานด้วยภายหลังจากที่ พล.ต.อ. อดุลได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยแล้วทั้งสิ้น และเช่นเดียวกัน การส่งวิทยุติดต่อกับฐานปฏิบัติการที่ซือเหมาก็ได้กระทำภายหลังการตัดสินใจของหลวงอดุลเดชจรัส และประสบผลสำเร็จครั้งแรกในวันที่ 5 ตุลาคม ศกดังกล่าว โดยสรุปแล้ว เสรีไทยสายอเมริกาก็เช่นเดียวกับเสรีไทยสายอังกฤษ ใช้เวลาเดินทางหรือรอคอยประมาณครึ่งปีก่อนที่จะได้ทำงานร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ บุคคลที่ทั้งอังกฤษและสหรัฐ ฯ ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าคือตัวแทนของประเทศไทยซึ่งเป็นมิตรกับนานาอารยประเทศต่อเนื่องมาจากวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เช่นเดียวกับ พ.ท. ปีเตอร์ พอยน์ตัน หัวหน้าแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตา ที่เฝ้าคอยฟังข่าวจากเสรีไทยสายอังกฤษที่ได้ส่งเข้าประเทศไทยโดยการกระโดดร่มจากเครื่องบินระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2487 ด้วยความกระวนกระวายใจที่ยังไม่มีการติดต่อใด ๆ ออกมา ในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน พ.อ. ริชาร์ด เฮพพ์เนอร์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดี ซึ่งคอยรับสัญญาณจากเสรีไทยสายอเมริกาที่เริ่มทยอยเดินทางเข้าไทยตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยผิดหวังที่ไม่มีข่าวใด ๆ ออกมา นอกจากข่าวการเสียชีวิตของ ร.อ. การะเวก และ ร.ท. สมพงษ์ ที่เชียงแมน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ก็ได้ขออนุมัติหน่วยเหนือดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดูเรียน ส่ง ร.ท. บุญมากกับ ร.ต. วิมล เข้าประเทศไทยโดยทางเรือดำน้ำให้ไปขึ้นบกที่ตะกั่วป่า แล้วให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ปฏิบัติการดูเรียนดังกล่าวนี้ล้มเหลว เนื่องจากเรือดำน้ำอังกฤษที่นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาทั้งสองนายเดินทางไป ได้เปลี่ยนแผนโดยกะทันหัน ไม่ส่งเสรีไทยขึ้นฝั่ง ซึ่งการนี้จะด้วยเหตุผลที่แท้จริงประการใดก็ตาม ได้ทำให้การปฏิบัติงานในประเทศไทยของสหรัฐอเมริกาต้องเปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 สิงหาคม 2487 พ.ท. พอยน์ตัน ได้รับการติดต่อทางวิทยุออกมาจากกรุงเทพฯ โดย ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับคณะแอพพรีซิเอชั่น สามารถส่งวิทยุออกมาได้ และรายงานว่าได้ติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ แล้ว ซึ่งทำให้งานของแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ก้าวล้ำหน้าศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ. -เอส.เอส. เมื่อได้ทราบเรื่องนี้ พ.อ. เฮพพ์เนอร์ จึงได้ตัดสินใจเตรียมแผนปฏิบัติการส่งเสรีไทยสายอเมริกาเข้าประเทศไทยโดยวิธีกระโดดร่มลงจากเครื่องบินในพื้นที่ซึ่งคิดว่าปลอดภัยและเหมาะสม ทั้งนี้โดยไม่มีการเตรียมรับทางพื้นดินแต่ประการใด ประสบการณ์ของกองกำลัง 136 ได้ยืนยันถึงสองคราวว่าการทิ้งร่มโดยปราศจากการเตรียมรับทางพื้นดินมีโอกาสประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายน้อยมาก กระนั้นเฮพพ์เนอร์ก็มิได้ยับยั้ง โดยอาจจะคิดว่าสิ่งใดที่ทางอังกฤษทำไม่ได้ อเมริกันก็ไม่จำเป็นจะต้องทำไม่ได้ด้วย ในการนี้ทางศูนย์ปฏิบัติการ 404 ได้เรียกตัวนายทหารเสรีไทยรุ่นที่ 2 ซึ่งเคยผ่านการฝึกกระโดดร่มหลายนายมารับการฝึกเพิ่มเติมที่ทรินโกมาลี บนเกาะลังกา เพื่อเตรียมส่งเข้าประเทศไทย อย่างไรก็ตามสำหรับปฏิบัติการ “ฮอทฟูท” ที่จะส่งเสรีไทยเข้าไปติดต่อกับผู้นำขบวนการเสรีไทยภายในประเทศเพื่อปูทางสำหรับ โอ.เอส.เอส. จะเข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศไทยนั้น พ.อ. เฮพพ์เนอร์ได้เปิดโอกาสให้นายทหารเสรีไทยที่เดินทางกลับจากปฏิบัติการดูเรียนที่ล้มเหลวตัดสินใจก่อนว่ายินดีจะไปกระโดดร่มลงที่แพร่หรือไม่ ทั้งที่ก็ตระหนักว่านายทหารเสรีไทยดังกล่าวไม่เคยฝึกการกระโดดร่มมาก่อนเลย

ร.ท. บุญมาก เทศะบุตร กับ ร.ต. วิมล วิริยะวิทย์ มีเวลาเตรียมตัวเพียงไม่กี่วันภายหลังที่ได้ทรมานอยู่ในเรือดำน้ำมาเป็นแรมเดือน ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน บี.24 ที่สั่งตรงมาจากคุนหมิง ไปกระโดดร่มลงที่บริเวณป่าสูงในอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2487 เพียงสองวันภายหลังปฏิบัติการบริลลิคของกองกำลัง 136 ที่ปล่อยพลร่มเสรีไทยสายอังกฤษ คือ ร.ต. กฤษณ์ โตษยานนท์ และ ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ ลงที่หัวหิน-ปราณบุรี โดยมีเสรีไทยภายในประเทศคอยรับที่พื้นดิน เนื่องจาก “ฮอทฟูท” เป็นปฏิบัติการบุกเบิกของ โอ.เอส.เอส. ดังนั้นจึงไม่มีการคาดหมายว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะสะดวกสบายและเรียบร้อย พลร่มเสรีไทยทั้งสองนายลงสู่พื้นดินในพื้นที่ซึ่งเป็นป่าสูงและหากันไม่พบ ขณะที่ ร.ท. บุญมากเข้าไปในจังหวัดแพร่เพื่อติดต่อกับนายทอง กันทาธรรม และเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ซึ่งนายสงวน ตุลารักษ์ ได้แนะนำไว้ ร.ต. วิมลหาทางออกจากป่าและเข้าหมู่บ้าน และให้ชาวบ้านพาตัวไปอำเภอและจังหวัด จนในที่สุดก็ขอให้ตำรวจภูธรโทรเลขถึง พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส โดยแจ้งชื่อจริงให้อธิบดีกรมตำรวจทราบ ซึ่งหลวงอดุลฯ ก็ได้สั่งให้ตำรวจที่แพร่นำตัวลงมาพบในกรุงเทพฯ ร.ต. วิมล วิริยะวิทย์ ได้พบ พล.ต.อ. อดุลในคืนวันที่ 22 กันยายน 2487 และได้แจ้งให้หลวงอดุลฯ ทราบถึงความมุ่งหมายของสหรัฐฯ ที่ประสงค์จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนขบวนการเสรีไทยทุกรูปแบบ รวมทั้งความสนับสนุนเอกราชของไทยภายหลังสงคราม เพียงขอให้อธิบดีตำรวจร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยและนายปรีดี พนมยงค์ ในคืนวันเดียวกัน พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ก็ได้นำ ร.ต. วิมล วิริยะวิทย์ เข้ารายงานตัวต่อนายปรีดี พนมยงค์ และจากนั้นหลวงอดุลเดชจรัสและตำรวจไทยก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติการเสรีไทยอย่างเข้มแข็งและจริงจัง กล่าวโดยสรุปก็คือ ภายในเดือนกันยายน 2487 การประสานงานอย่างเป็นระบบระหว่างขบวนการเสรีไทยภายในประเทศภายใต้นายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส และกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตร ทั้งในด้านอังกฤษและด้านสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มขึ้น ซึ่งการนั้นได้เปลี่ยนโฉมหน้าของปฏิบัติการเสรีไทยจากปฏิบัติการที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินการกันไปตามลำพังในความมืด ไปสู่ความเป็นเอกภาพที่เชื่อมเครือข่ายของปฏิบัติการทั้งหมดเข้าด้วยกัน ในวันที่ 5 ตุลาคม ศกนั้น เสรีไทยสายอเมริกาในกรุงเทพฯ ก็สามารถติดต่อกับฐานปฏิบัติการซือเหมา และผ่านต่อไปยังแคนดีได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งทำให้นายปรีดีสามารถติดต่อทางวิทยุกับศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. และกับแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ได้เป็นการประจำวัน การติดต่อกับทางสหรัฐฯ ได้โดยตรง ทำให้นายปรีดีมีโอกาสมากขึ้นที่จะดำเนินงานด้านการเมืองที่มีเป้าหมายให้ไทยคงความเป็นเอกราชและมีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ภายหลังที่สงครามได้สงบลงแล้ว

นับตั้งแต่ที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งนายจำกัด พลางกูร เล็ดลอดออกไปประเทศจีนตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2486 นายปรีดีได้เริ่มวางแผนการที่จะเล็ดลอดออกไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่อินเดีย ซึ่งอยู่ในภารกิจที่ได้มอบหมายให้นายจำกัดไปเจรจากับทางฝ่ายสัมพันธมิตร ตามแผนการของนายปรีดีนั้น รัฐบาลเสรีไทยที่จะจัดตั้งขึ้นที่อินเดียนั้นจะเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือจะประกอบด้วย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง นายปรีดีได้กล่าวชักชวนนายทวี บุณยเกตุ ผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเพิ่งลาออกจากรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย โดยนายปรีดีจะขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายทวีเป็นประธานสภาฯ และจะได้ออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นกับนายปรีดี นายทวีตอบตกลง หากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้นไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายทวี บุณยะเกตุ ดังนั้นแผนการจึงได้ชะงักลง และประจวบกับการไม่ได้รับข่าวใด ๆ จากนายจำกัด จึงทำให้นายปรีดีต้องเปลี่ยนแผนไปตามสถานการณ์ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2486 นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งนายสงวน ตุลารักษ์ และคณะ ไปประเทศจีนเพื่อติดตามเรื่องนายจำกัด และได้มอบให้นายสงวนติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้เข้าใจสถานภาพของประเทศไทยตลอดจนขอความสนับสนุนแก่ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ แต่จากนั้น จนกระทั่งเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในกลางปี 2487 นายปรีดีก็ยังมิได้รับการติดต่อจากโลกภายนอก ซึ่งมีผลทำให้กิจกรรมของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศมิได้มีความก้าวหน้าเท่าใดนัก

เมื่อล่วงเข้ามาในปี 2487 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการยกพลขึ้นบกของกองทัพสัมพันธมิตรที่นอร์มังดีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นายปรีดี พนมยงค์ ก็มองเห็นว่าสงครามในยุโรปคงจะสงบลงในไม่ช้าด้วยการพ่ายแพ้ของเยอรมนี ซึ่งจากนั้นก็จะเริ่มต้นนับถอยหลังไปสู่วันที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนน นอกจากนั้นสาส์นที่กองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรที่แคนดีให้เสรีไทยสายอังกฤษชุดแอพพรีซิเอชั่นนำมามอบให้ ก็เป็นการเปิดทางให้ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศสามารถทำงานรับใช้ชาติได้กว้างขวาง ซึ่งเป็นโอกาสที่จำเป็นจะต้องฉวยเอาไว้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของปฏิบัติการเสรีไทยที่จะต้องรีบเร่งเพราะเวลามีเหลืออยู่ไม่มากนักสำหรับการรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติภายหลังสงคราม ก็คือรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่นำประเทศไทยเข้าเป็นพันธมิตรทางทหารและทางอื่น ๆ กับญี่ปุ่น และได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งอังกฤษและหลายประเทศในเครือจักรภพอังกฤษก็ได้ประกาศสงครามตอบ ถึงแม้โดยส่วนตัว นายปรีดีจะมีความเข้าใจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดีว่าได้พยายามรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติอีกทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากนายปรีดี ก็เห็นว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กระทำการที่ผิดพลาด โดยไปฟังและเชื่อความเห็นที่ไม่ถูกต้องจากผู้ใกล้ชิดบางคน และไม่ยอมรับฟังการทักท้วงที่มีเหตุผล จนกระทั่งทำให้ประเทศชาติต้องตกอยู่ในฐานะที่ล่อแหลมต่อการสูญเสียเอกราช อธิปไตย ตลอดจนเกียรติภูมิ เมื่อจะต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามไปกับญี่ปุ่นมหามิตร นอกจากนั้นการรับฟังวิทยุคลื่นสั้นของฝ่ายสงครามจิตวิทยาของสัมพันธมิตร ก็เห็นได้ชัดเจนว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเป้าการโจมตีอย่างรุนแรงของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งหากสงครามสงบลงโดยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว ประเทศไทยจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักจากฝ่ายที่ชนะสงคราม สำหรับการติดต่อกับทางกองทัพจีนที่พรมแดนไทยใหญ่-ยูนนาน ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังดำเนินการในช่วงแรกของปี 2487 นั้น แม้นหากว่านายปรีดี พนมยงค์ จะพอทราบระแคะระคายบ้าง ก็เห็นว่าเป็นการติดต่อที่จะหวังผลอะไรไม่ได้เลย อีกทั้งการเชื้อเชิญกองทัพจีนเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อขับไล่ญี่ปุ่น ก็คือการชักศึกเข้าบ้านโดยตรงนั่นเอง ซึ่งยิ่งจะเป็นภัยอันใหญ่หลวง ยิ่งกว่านั้นในขณะนั้นประชาชนและวงการทั่วไปก็เริ่มมีความรู้สึกไม่พอใจจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐบาลในเรื่องภายในประเทศหลายต่อหลายเรื่อง โดยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ นายปรีดี พนมยงค์ จึงมีความเห็นว่า เพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง มีความจำเป็นโดยรีบด่วนที่จะต้องจัดการให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ และเพิกถอนอำนาจทั้งทางทหารและพลเรือนของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เสียโดยสิ้นเชิง

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ปรึกษาหารือกับบรรดาสมาชิกขบวนการเสรีไทยซึ่งเมื่อเข้ามาในปี 2487 ได้ขยายไปรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากจากทุกภาคของประเทศและข้าราชการในหลายหน่วยงานและหลายกระทรวงทบวงกรม ตลอดจนบางส่วนของกองทัพไทยซึ่งมีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ปฏิบัติการเสรีไทยดำเนินไปอย่างกว้างขวางและสนองเจตนารมณ์ในการรับใช้ชาติ และเพื่อการผ่อนหนักเป็นเบาเมื่อสงครามสงบลงโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัยซึ่งเกือบจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้ การล้มรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ได้กระทำโดยสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ไปก่อนหน้านั้นสองฉบับ คือ พ.ร.ก. ระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม และ พ.ร.ก. จัดสร้างพุทธบุรีมณฑล เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 ต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม พล.ท. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ทรงอาจจะรับใบลาออกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไปได้ด้วยเหตุผลส่วนพระองค์ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 1 สิงหาคม 2487 สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงมติตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว และในวันเดียวกันนั้นเอง นายปรีดีก็ได้แต่งตั้ง พ.ต. ควง อภัยวงศ์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยประธานสภาฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พ.ต. ควง หรือหลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นนักเรียนฝรั่งเศสรุ่นเดียวกับนายปรีดีและจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 พ.ต. ควงอยู่ในวงการเมืองภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาโดยตลอด และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาตั้งแต่รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา และต่อมาในคณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ และสุดท้ายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามลำดับ จนกระทั่งได้ขอลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับนายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2486 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นกันว่ารัฐบาลชุดใหม่ก็จะต้องร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยใกล้ชิดตามสัญญาพันธกรณีที่มีต่อกันไว้ด้วยดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นรัฐบาลที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ปฏิบัติการเสรีไทย ซึ่งเห็นว่า พ.ต. ควงมีความสามารถในอันที่จะ “ตีหน้า” กับญี่ปุ่นได้ สำหรับการงานของรัฐบาลนั้น นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะทำหน้าที่สั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรี นายทวี บุณยเกตุ เป็นคนซื่อตรงและสามารถ อีกทั้งมีอาวุโสในคณะราษฎร เพราะเข้าร่วมในคณะราษฎรตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในปารีสเมื่อปี 2470 ก่อน พ.ต. ควงซึ่งเข้าร่วมในคณะราษฎรในปี 2475 ผู้แทนราษฎรหลายนายสนับสนุนให้นายทวีเป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายทวี เป็นผู้พูดตรงไปตรงมาจึงไม่อาจจะคบหากับญี่ปุ่นในขณะที่ปฏิบัติงานเสรีไทยอย่างเต็มตัวในขณะเดียวกันได้

สำหรับรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เลือกสมาชิกขบวนการเสรีไทยแทรกอยู่หลายนาย เช่น นายทวี บุณยเกตุ น.อ. บุง ศุภชลาศัย นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ พล.ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี เพื่อให้ญี่ปุ่นวางใจรัฐบาลของ พ.ต. ควง อภัยวงศ์ ในแง่ความเป็นมิตรกับญี่ปุ่น ก็ได้แต่งตั้ง พล.ร.ท. สินธุ์ กมลนาวิน ผู้ซึ่งญี่ปุ่นมีความคุ้นเคย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม 2487 ได้มีประกาศยุบเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแต่งตั้งแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพใหญ่แทน ทั้งนี้โดยให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ต่อมาอีกในวันที่ 13 กันยายน 2488 ภายหลังวันสันติภาพ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เพื่อให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นความเกี่ยวข้องกับราชการโดยสิ้นเชิงระหว่างการรอดูท่าทีของฝ่ายสัมพันธมิตรในการปฏิบัติต่อประเทศไทย

การเปลี่ยนรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2487 ได้ทำให้ปฏิบัติการเสรีไทยในทุกแง่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลใหม่ แม้นจะมิได้เป็นรัฐบาลเสรีไทย แต่ก็เป็นรัฐบาลที่เกื้อหนุน คุ้มครอง และอยู่ในความควบคุมของหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในเดือนสิงหาคมนั้นเอง นายปรีดี พนมยงค์ ก็สามารถติดต่อกับกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรที่ลังกา และแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตาได้ และต่อมาในเดือนตุลาคมก็สามารถติดต่อกับศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดีได้เช่นกัน ในช่วงปลายปี 2487 นั้น ทั้งด้านอังกฤษและด้านสหรัฐฯ ก็ได้ทยอยส่งเสรีไทยในสังกัดเข้าสู่ประเทศไทย คือในด้านสหรัฐฯ ก็เริ่มด้วยปฏิบัติการ – อริสทอค ซึ่งพลร่มเสรีไทยสามนายได้ถูกปล่อยลงที่บริเวณดอยอินทนนท์ โดยทางพื้นดินยังไม่พร้อมที่จะรับ เมื่อคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน ขณะที่ปฏิบัติการดูเรียน 2 ก็ได้ส่งเสรีไทยสายอเมริกาสองนายขึ้นจากเรือดำน้ำที่เกาะกระดาน จังหวัดตรัง ในวันที่ 9 เดือนเดียวกัน นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาทั้งห้านายจากปฏิบัติการทั้งสองนี้ต้องถูกเก็บตัวไว้ในค่ายเชลยศึก เนื่องจากญี่ปุ่นทราบเรื่อง อย่างไรก็ดี เสรีไทยจากอริสทอคก็สามารถส่งวิทยุติดต่อโดยตรงกับแคนดีได้ก่อนที่จะเข้าค่ายเชลยศึก สำหรับทางสายอังกฤษ ภายหลังปฏิบัติการบริลลิคที่ส่งพลร่มเสรีไทยสองนายมาลงที่หัวหิน-ปราณบุรี เมื่อคืนวันที่ 7 กันยายนแล้ว ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม เสรีไทยสายอังกฤษอีกสามนายแห่งปฏิบัติการคับปลิงก็ได้ถูกปล่อยลงที่บริเวณอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยมีการเตรียมรับที่ภาคพื้นดิน นอกจากนั้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2487 นั่นเอง ทางกองกำลัง 136 ก็ได้ส่งเครื่องบินทะเลคาทาลิน่ามารับตำรวจสันติบาลเจ็ดนายที่หลังเกาะตะรุเตาเพื่อเอาไปฝึกในอินเดีย ในระยะนั้นเอง ทางกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรก็ได้แจ้งมายังนายปรีดี ขอให้ส่งคณะผู้แทนไทยไปร่วมปรึกษาหารือด้านปฏิบัติการทางทหารที่แคนดี

ถึงแม้นครึ่งหลังของปี 2487 จะเป็นช่วงเวลาแห่งการติดต่อประสานงานระหว่างกองบัญชาการเสรีไทยในกรุงเทพฯ กับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรที่ลังกา ซึ่งได้ประสบความสำเร็จภายหลังที่ได้มีความพยายามของทุกฝ่ายมาเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี ครึ่งแรกของปี 2488 ก็เป็นช่วงเวลาแห่งปฏิบัติการเสรีไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อทดแทนเวลาที่ได้เสียไปเกือบสามปีนับตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยพร้อมกับการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ ในระหว่าง 12 เดือนสุดท้ายของสงคราม คือกันยายน 2487-สิงหาคม 2488 นายปรีดี พนมยงค์ มีภารกิจที่หนักหน่วงที่สุดในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยและในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งการตัดสินใจทุกเรื่องอันเกี่ยวกับความเป็นความตายของชาติอยู่ในความรับผิดชอบของเขาแต่เพียงผู้เดียว

ในด้านปฏิบัติการทางทหาร นายปรีดี พนมยงค์ รับผิดชอบต่อกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ซึ่งกำหนดนโยบายและแผนยุทธการตลอดจนเป้าประสงค์ในแต่ละเรื่อง แล้วแจ้งมาให้กองบัญชาการเสรีไทยรับผิดชอบในการปฏิบัติ ซึ่งมีมาทั้งในด้านอเมริกัน โดยศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดี และในด้านอังกฤษ โดยแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตา ทางด้านสัมพันธมิตร แผนปฏิบัติการทางทหารจะเน้นไปในด้านข่าวกรอง และการฝึกพลพรรคเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศ เพื่อสนองแผนการรุกเพื่อเผด็จศึกของกองทัพสัมพันธมิตรภายใต้แม่ทัพอังกฤษ ซึ่งกำหนดไว้เบื้องต้นก่อนสิ้นปี 2488 อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการต่าง ๆ ในประเทศไทยของฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายปรีดี พนมยงค์ ก่อนเสมอไป และนายปรีดีก็ได้ทำการประท้วงปฏิบัติการใด ๆ ของสัมพันธมิตรที่เห็นว่าเป็นการไม่สมควร เช่นเรื่องการทิ้งระเบิดที่อาจเป็นอันตรายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นต้น

เพื่อจะได้ปรึกษาหารือโดยตรงกับนายปรีดี พนมยงค์ และเพื่อจะได้ศึกษาสภาพต่าง ๆ ในประเทศไทยด้วย ทั้งทางอังกฤษและทางสหรัฐฯ ได้ตกลงใจที่จะส่งนายทหารของตนเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งในประเด็นนี้ อเมริกันมีความรวดเร็วในการตัดสินใจและในการดำเนินการเหนือกว่าอังกฤษมาก ผู้แทนของ โอ.เอส.เอส. ภายใต้ปฏิบัติการ – ฮอทฟูท ได้พบนายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส เมื่อปลายเดือนกันยายน 2487 และการติดต่อทางวิทยุระหว่างกรุงเทพฯ กับแคนดีเป็นผลสำเร็จเมื่อต้นเดือนตุลาคม ศกเดียวกัน ต่อมาในปลายเดือนมกราคม 2488 นายทหารอเมริกันชุดแรกก็ได้เดินทางเข้ามาพบนายปรีดี พนมยงค์ ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน และนับตั้งแต่เวลานั้น โอ.เอส.เอส. ก็ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการไซเรนขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อประสานปฏิบัติการทั้งหมดของสหรัฐฯ ในประเทศไทย อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างนายปรีดีกับ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดีด้วย สำหรับทางอังกฤษนั้นมีความล่าช้าในการตัดสินใจและในการคัดเลือกตัวบุคคลที่เหมาะสม จนกระทั่งปลายเดือนเมษายน 2488 เป็นเวลาสามเดือนภายหลังอเมริกา จึงได้ส่งคณะนายทหารอังกฤษเข้ามาพบนายปรีดี พนมยงค์ และต่อมานายทหารอังกฤษก็ได้ตั้งฐานปฏิบัติการในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับ โอ.เอส.เอส. นายปรีดี พนมยงค์ ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้แก่นายทหารสัมพันธมิตรเหล่านั้น รวมทั้งความเป็นอยู่ด้วย

สำหรับการปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค ได้มีการแบ่งเขตปฏิบัติการระหว่างอังกฤษและอเมริกา อังกฤษจะปฏิบัติการอยู่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา นครพนม สกลนคร เลย ตาก ระนอง อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ขณะที่อเมริกาจะอยู่ที่แพร่ เชียงราย สุโขทัย อุดรธานี สกลนคร อุบลราชธานี ชัยภูมิ กาญจนบุรี อ่างทอง อยุธยา ระยอง ชลบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และเพชรบุรี ในเขตจังหวัดเหล่านี้ในตอนปลายสงครามจะมีทั้งเสรีไทยและนายทหารสัมพันธมิตรร่วมปฏิบัติงานกันอยู่ทุกพื้นที่ โดยงานส่วนใหญ่ก็คือการฝึกอาวุธพลพรรคฯ และการส่งข่าวกรอง ในบางพื้นที่ เครื่องบินสัมพันธมิตรจะมาทิ้งร่มอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย เช่นที่ ชลบุรี ระยอง และเพชรบุรี เป็นต้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้สมาชิกระดับอาวุโสของขบวนการเสรีไทยแบ่งภาระและความรับผิดชอบดำเนินการในแต่ละพื้นที่ โดยประสานกับทางสัมพันธมิตร และร่วมมือกับนายทหารเสรีไทยผู้รับผิดชอบในปฏิบัติการนั้น สมาชิกอาวุโสของขบวนการเสรีไทยซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการในส่วนภูมิภาคก็มีอาทิ นายเตียง ศิริขันธ์ นายพึ่ง ศรีจันทร์ นายทอง กันทาธรรม และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดที่รับผิดชอบ นอกจากนั้นนายปรีดีก็ยังได้มอบหมายความรับผิดชอบให้แก่ข้าราชการฝ่ายปกครองที่ไว้วางใจได้อีกจำนวนหนึ่ง อาทิ นายอุดม บุญประกอบ นายปรง พหูชนม์ นายสุวรรณ รื่นยศ ฯลฯ ให้ควบคุมดูแลปฏิบัติการเสรีไทยในส่วนภูมิภาค อันได้แก่ การฝึกพลพรรค การเก็บรักษาและแจกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ การสร้างสนามบินลับ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นปฏิบัติการทางทหารทั้งสิ้น

ความมุ่งหมายในด้านปฏิบัติการทางทหารของนายปรีดี พนมยงค์ ก็คือการสร้างขีดความสามารถของพลพรรคเสรีไทย ตลอดจนความพร้อมในอันที่จะลงมือสู้รบกับทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างเปิดเผย ในประเด็นว่าด้วยการสู้รบนี้ เป็นที่แน่นอนว่านายปรีดีมิได้มุ่งหวังในชัยชนะถึงขั้นที่จะขับไล่ทหารญี่ปุ่นให้พ้นไปจากประเทศไทยด้วยตระหนักดีว่าญี่ปุ่นมีกำลังมหาศาล ซึ่งแม้นว่าจะอ่อนเปลี้ยลงไปมาก แต่ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่พลพรรคเสรีไทย หรือแม้กระทั่งกองทัพไทยเป็นส่วนรวมจะเอาชนะได้ สิ่งที่จะทำได้ก็คือการให้ความสนับสนุนแก่กองทัพสัมพันธมิตรที่จะเผด็จศึกด้วยกำลังทั้งทหารและอาวุธที่เหนือกว่าญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรที่แคนดีก็วางแผนปฏิบัติการดังกล่าวอย่างรอบคอบ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้การสูญเสียมีน้อยที่สุดในการสู้รบ ทั้งนี้โดยสัมพันธมิตรได้มีประสบการณ์ที่ได้รับชัยชนะโดยแลกกับความสูญเสียมหาศาล จากการกวาดล้างญี่ปุ่นตามเกาะต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ การเอาชนะญี่ปุ่นย่อมหมายถึงการปลดปล่อยพม่า ประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ ในอินโดจีน รวมทั้งแหลมมลายูและดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ซึ่งรวมกันเป็นพื้นที่กว้างขวาง โดยญี่ปุ่นได้วางกองกำลังไว้ทุกจุด ในช่วงระยะหนึ่งเมื่อต้นปี 2488 ลอร์ดเมานท์แบตเทนได้อนุมัติให้ฝ่ายเสนาธิการจัดทำรายละเอียดของปฏิบัติการโรเจอร์ ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยจะมีการยกพลขึ้นบกที่ภูเก็ต และจะใช้ภูเก็ตเป็นฐานปฏิบัติการทางอากาศเพื่อทำลายเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศของญี่ปุ่นให้หมดสิ้น ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่สัมพันธมิตรจะเปิดฉากการรุกใหญ่ ณ จุดใดก็ตาม ญี่ปุ่นจะไม่สามารถเคลื่อนกำลังจากจุดหนึ่งไปป้องกันจุดอื่นได้เลย ปฏิบัติการโรเจอร์ซึ่งต้องการความสนับสนุนในด้านข่าวกรองจากฐานปฏิบัติการเสรีไทยในภาคใต้และซึ่งกำหนดในเบื้องต้นว่าจะลงมือประมาณเดือนพฤษภาคม 2488 ได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด นายปรีดีได้รอโอกาสที่ขบวนการเสรีไทยจะลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้นปี 2488 หากทางสัมพันธมิตรก็ยังไม่พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติการเพราะไม่ปรารถนาจะเห็นความสูญเสียมากเกินกว่าที่จำเป็น

ความจริง ความมุ่งหมายของนายปรีดี พนมยงค์ มิได้อยู่ที่ชัยชนะหรือความได้เปรียบของกองกำลังเสรีไทยในการต่อสู้กับญี่ปุ่น ทั้งนี้เนื่องจากกำลังของเสรีไทยหรือแม้ของกองทัพไทยมีไม่พอเพียงสำหรับการนั้นดังกล่าวข้างต้น นายปรีดีมีความมุ่งหมายในด้านการเมือง กล่าวคือมีความประสงค์ที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารของขบวนการเสรีไทยเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่สัมพันธมิตรว่าประเทศไทยและคนไทยมีความรักและหวงแหนเอกราชและอธิปไตย และยอมเสียสละเพื่อสิ่งดังกล่าวโดยความเต็มใจ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายปรีดีประสงค์ที่จะลบล้างความเข้าใจของสัมพันธมิตรที่ว่าไทยมิได้ต่อสู้เมื่อถูกรุกรานโดยญี่ปุ่น และการนั้นได้นำความเสียหายไปสู่อังกฤษอย่างมาก จนกระทั่งทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพของประเทศไทยภายหลังสงคราม ซึ่งในปี 2487- 2488 เป็นที่แน่นอนว่าสัมพันธมิตรจะต้องเป็นฝ่ายชนะ โดยญี่ปุ่นและพันธมิตรของญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายแพ้ นายปรีดีต้องการจะพิสูจน์แก่ชาวโลกว่า ไทยต่อสู้ภายใต้อุดมการณ์เดียวกับสหประชาชาติ ซึ่งถ้าแม้นเมื่อญี่ปุ่นบุก จะไม่มีโอกาสเท่าที่ควร เพราะรัฐบาลครั้งนั้นได้สั่งระงับการต่อสู้เสียก่อน หากไทยก็ได้สูญเสียไปมิใช่น้อยจากการต่อสู้ตอนนั้น บัดนี้ไทยต้องการจะพิสูจน์อีกครั้งโดยมิให้มีข้อสงสัยใด ๆ อีกต่อไป นายปรีดี พนมยงค์ เชื่อว่าการพิสูจน์ของไทยจะฟื้นฟูภาพพจน์ของประเทศชาติและจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงที่สุดสำหรับเอกราชและอธิปไตยของไทยภายหลังสงคราม ด้วยความมุ่งหมายที่จะบรรลุผลทางการเมืองดังกล่าวนี้ นายปรีดีจึงได้ทุ่มเทความสนับสนุนของขบวนการเสรีไทยต่อปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกา และขณะเดียวกันก็เตรียมให้พร้อมในอันที่จะลงมือปฏิบัติการทางทหารโดยขบวนการเสรีไทยเอง นายปรีดี พนมยงค์ วิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาได้ถูกต้องและแม่นยำทุกประการ สัจธรรมได้ปรากฏอย่างชัดเจนที่สุดว่าปฏิบัติการทางทหารของเสรีไทยในทุกแง่และทุกระดับ ได้ช่วยรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติเอาไว้ได้สำเร็จ ด้วยความประทับใจในปฏิบัติการทางทหารของเสรีไทย สัมพันธมิตรได้รับรองเอกราชและอธิปไตยของไทยภายหลังสงคราม โดยประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และไทยไม่ต้องถูกยึดครอง

ในช่วงปลายสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่นาซีเยอรมันได้ตกเป็นฝ่ายถอยจนกระทั่งใกล้จะยอมจำนน ความวิตกกังวลของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อสถานภาพของประเทศไทยภายหลังสงครามได้ทวีขึ้น ทางด้านสหรัฐอเมริกา แม้นจะได้มีการแสดงท่าทีในหลายโอกาสที่ยืนยันความเป็นเอกราชและอธิปไตยของไทย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะยึดถือได้อย่างเป็นทางการว่าสหรัฐฯ จะไม่ถือว่าไทยเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ยิ่งไปกว่านั้น ทางอังกฤษก็ยังปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมเจรจาในเรื่องการเมืองกับนายปรีดี พนมยงค์ นายปรีดีได้ตัดสินใจส่งบุคคลต่าง ๆ ไปกรุงวอชิงตัน เพื่อช่วยเหลือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ดำเนินการในหลายด้านที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและความมุ่งหมายของขบวนการเสรีไทย บุคคลแรกที่นายปรีดีส่งไปกรุงวอชิงตันคือนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล หัวหน้ากองการเมือง กรมการเมืองตะวันตก กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ซึ่งเคยไปประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ในคณะของนายดิเรก ชัยนาม ในเบื้องแรก นายปรีดีต้องการให้นายทวี ตะเวทิกุล ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายกนต์ธีร์เดินทางไป หากนายทวีมีสุขภาพไม่สมบูรณ์พอ จึงได้ให้นายกนต์ธีร์ทำหน้าที่ดังกล่าว ภารกิจที่นายปรีดีมอบหมายให้นายกนต์ธีร์รับไปปฏิบัติก็คือ ไปสมทบกับ ม.ร.ว. เสนีย์ยกเรื่องเจรจาเป็นทางการกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องสถานภาพของประเทศไทยภายหลังสงคราม แต่ความมุ่งหมายจริง ๆ อยู่ที่การหาทางให้อังกฤษเปิดเผยท่าทีเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยให้แน่ชัดก่อนที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนน โดยอย่างน้อยที่สุดก็ให้เคารพในเอกราชและอธิปไตยของไทย ทั้งนี้โดยไทยพร้อมที่จะคืนดินแดนในมลายูและพม่าให้ ตลอดจนชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ นายกนต์ธีร์ออกเดินทางไปโดยเครื่องบินทะเลลำที่นำคณะนายทหารอเมริกันชุดแรกเข้าประเทศไทยในคืนวันที่ 26 มกราคม 2488 นายสงวน ตุลารักษ์ ได้สมทบไปกับนายกนต์ธีร์จากแคนดี และทั้งสองก็ได้ร่วมกับสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เปิดการเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2488 โดยเริ่มต้นด้วยการรื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นมาเป็นประเด็น แต่ทั้งทางสหรัฐฯ และทางอังกฤษก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว โดยเห็นว่าขณะนี้ทางอังกฤษและสหรัฐฯ ก็ติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ ได้โดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องมีรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นมาให้เกิดความสับสน ถ้าหากจะมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นแล้ว ก็ควรจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในดินแดนไทยที่กองทัพสัมพันธมิตรได้ทำการปลดปล่อยแล้ว จะเหมาะสมกว่า

ในเดือนเมษายน 2488 ก่อนที่นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้มีการประชุมเพื่อจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ณ นครซานฟรานซิสโก ซึ่งประเทศที่จะเข้าร่วมประชุมจะต้องเป็นประเทศที่ประกาศสงครามกับกลุ่มประเทศอักษะ นายปรีดี พนมยงค์ ได้สั่งให้สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน แจ้งต่อสหรัฐฯ ว่าขบวนการเสรีไทยพร้อมที่จะลุกขึ้นประกาศสงครามและต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยทันที ทั้งนี้เพื่อจะได้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ความคิดในเรื่องนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก เพราะทางสหรัฐฯ และสัมพันธมิตรเกรงว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับกรณีอินโดจีนเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่เพิ่งผ่านมา อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ส่งโทรเลขไปให้กำลังใจแก่นายปรีดี มีข้อความว่า

ความพยายามของท่านและของผู้ร่วมงานกับท่านที่จะปลดเปลื้องประชาชาติไทยจากผู้กดขี่ เป็นที่ทราบตระหนักอย่างดี และจะไม่ล้มเหลว ขออวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จ และขอแสดงความนับถืออย่างอบอุ่นที่สุดมา ณ ที่นี้

ในด้านจุดยืนของอังกฤษต่อประเทศไทยภายหลังสงครามนั้น อังกฤษได้ยินยอมให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งต่อไทยด้วยวาจา ซึ่งนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้จดข้อความนำกลับมารายงานนายปรีดี พนมยงค์ ว่า

  1. อังกฤษถือว่าเป้าหมายสุดท้ายของอังกฤษและสหรัฐฯ เป็นอย่างเดียวกัน (ซึ่งคงหมายถึงเอกราชและอธิปไตยของไทย)
  2. อังกฤษไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในความแน่แท้จริงใจของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ ที่ปรารถนาจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร
  3. อังกฤษรู้สึกว่าพึงจะดำเนินการติดต่อกับนายปรีดีโดยตรงต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาลไทยชั่วคราวในพื้นที่ประเทศไทยที่ได้รับการปลดปล่อยแล้ว

กล่าวโดยสรุปก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ยังไม่ได้รับการยืนยันใด ๆ จากฝ่ายสัมพันธมิตรอันเกี่ยวกับฐานะของประเทศไทยภายหลังสงคราม หากจากการเจรจาที่กรุงวอชิงตัน ได้ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ได้ทราบว่าฝ่ายสัมพันธมิตรได้เห็นความจริงจังและจริงใจของนายปรีดีและขบวนการเสรีไทย ในขณะเดียวกัน ปฏิบัติการทางทหารอย่างลับๆก็ดำเนินต่อไปอันได้แก่ การรับอาวุธยุทโธปกรณ์จากสัมพันธมิตรทางเครื่องบิน การเดินทางเข้ามาประเทศไทยของนายทหารอังกฤษและอเมริกันตลอดจนนายทหารเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกา การฝึกและติดอาวุธพลพรรคเสรีไทยที่เพิ่มและขยายจำนวนอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ การส่งเสรีไทยภายในประเทศออกไปรับการฝึกที่อินเดียและลังกา โดยบางนายได้กลับเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย และการรายงานข่าวกรองที่เป็นประโยชน์แก่การทำสงครามของสัมพันธมิตรทั้งให้ปลอดภัยจากญี่ปุ่นและได้รับการส่งออกไป ยิ่งสงครามใกล้จะสิ้นสุดลง การติดต่อระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับฝ่ายสัมพันธมิตรที่แคนดีก็ทวีความใกล้ชิดมากขึ้นจนกระทั่งเป็นเรื่องประจำวัน ทางด้านอังกฤษเดิมใช้ชื่อรหัส ”บีบี 855” สำหรับนายปรีดี ขณะที่ทางอเมริกาใช้คำว่า “รูธ” เป็นชื่อรหัสสำหรับนายปรีดี พนมยงค์

แม้นว่าการติดต่อจะเป็นไปโดยใกล้ชิดกับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลอร์ด เมานท์แบตเทน และทางขบวนการเสรีไทยก็ได้พยายามตอบสนองความต้องการของฝ่ายสัมพันธมิตรในทุกวิถีทาง รวมทั้งการส่งนายทหารเสนาธิการ ทั้งด้านทหารบกและทหารอากาศ ไปประจำกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตร ได้แก่ พ.อ. เนตร เขมะโยธิน ประจำอยู่กับฝ่ายอังกฤษ พ.ท. เอกศักดิ์ ประพันธโยธิน และ น.ท. ทวี จุลละทรัพย์ ประจำอยู่กับศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. นอกจากนั้นก็ยังส่งนักบินจากกองทัพอากาศไทยหลายนายไปช่วยเหลือนักบินสัมพันธมิตรที่บินเข้ามาปฏิบัติการเหนือประเทศไทยเพื่อให้การโจมตีไม่พลาดจุดยุทธศาสตร์ และหลีกเลี่ยงการทำอันตรายประชาชน แต่กระนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ก็ยังไม่คลายความกังวลใจ การเดินทางไปกรุงวอชิงตันของนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ก็มิได้เกิดผลอะไรมากนัก ในเดือนกุมภาพันธ์ นายปรีดีได้ส่งคณะผู้แทนขบวนการเสรีไทยไปแคนดีตามคำเชิญของผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรซึ่งระบุไว้ล่วงหน้าว่าจะเจรจากันเฉพาะในด้านการทหารโดยไม่เกี่ยวกับการเมือง ผู้แทนคณะดังกล่าวประกอบด้วย นายดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะ และ พล.ท. หลวงชาตินักรบ เสนาธิการทหารบก และนายถนัด คอมันตร์ แห่งกระทรวงการต่างประเทศร่วมคณะ แต่ปรากฏว่าคณะผู้แทนไทยมิได้พบกับลอร์ด เมานท์- แบตเทน เพียงปรึกษาหารือกับ พล.ต. คอลิน เอช. แมคเคนซี ผู้บังคับการกองกำลัง 136 และนายเอ็ม.อี. เดนิง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นการหารือกันในเรื่องความร่วมมือทางทหาร อย่างไรก็ตามนายดิเรกก็ได้พยายามนำประเด็นด้านการเมืองขึ้นหารือกับนายเดนิง แต่ก็มิได้รับการตอบสนองที่น่าพอใจ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่จะไม่เจรจาเรื่องการเมืองกับไทยในขณะนั้น

ในต้นเดือนพฤษภาคม 2488 เยอรมนีได้ยอมจำนนต่อสัมพันธมิตร ซึ่งย่อมหมายถึงว่าวันที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงครามได้ใกล้เข้ามาแล้ว ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ได้เพิ่มความระแวงสงสัยประเทศไทยในความเป็นพันธมิตรมากขึ้น และดูเหมือนจะแน่ใจว่าได้มีขบวนการเสรีไทยอย่างเป็นหลักเป็นฐานขึ้น โดยมีการติดต่อรับอาวุธจากสัมพันธมิตร ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ มีความไม่แน่ใจว่าเมื่อใดที่ญี่ปุ่นจะตัดสินใจเข้ายึดประเทศไทยเช่นในกรณีอินโดจีน ดังนั้นนายปรีดีจึงได้ส่งสาส์นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีสาระสำคัญว่า ขบวนการเสรีไทยได้กระทำตามข้อแนะนำของฝ่ายอเมริกาตลอดมาว่าจะไม่ปฏิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยก่อนถึงเวลาอันควร หากบัดนี้ญี่ปุ่นมีความสงสัยมากขึ้น และรัฐบาลไทยขณะนั้นจะลาออก ถ้าญี่ปุ่นยืนยันจะขอกู้เงินจากไทยเพิ่มขึ้น รัฐบาลไทยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่จะประกาศยกเลิกข้อตกลงต่าง ๆ ที่ได้เคยทำกับญี่ปุ่นไว้ รวมทั้งการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ด้วย โดยไทยจะลุกขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น ดังนั้นจึงขอแจ้งให้สหรัฐฯ ทราบเสียก่อน โดยเชื่อว่า

ในวันที่เราลงมือปฏิบัติการนั้น สหรัฐฯ จะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติด้วย และไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทยซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละใด ๆ

และก็ได้แจ้งเรื่องทั้งหมดนี้ไปยังลอร์ด เมานท์- แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรให้ทราบด้วย ความพยายามอีกครั้งหนึ่งของนายปรีดีที่จะประกันความเป็นเอกราชของไทยภายหลังสงครามด้วยการต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย ทำให้ทางสัมพันธมิตรกังวลใจมาก เพราะการนั้นจะกระทบกระเทือนถึงแผนยุทธการของฝ่ายสัมพันธมิตรที่กำลังจัดทำขึ้นอย่างรอบคอบที่สุด สาส์นของนายปรีดีดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้รับในวันที่ 21 พฤษภาคม 2488 และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ส่งโทรเลขตอบนายปรีดี เมื่อวันที่ 28 เดือนเดียวกัน ความว่า

ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งในสารที่ท่านส่งให้รัฐมนตรี เราเข้าใจความปรารถนาของท่านที่จะให้ประเทศไทยต่อต้านศัตรูอย่างแข็งขันที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทางการสหรัฐฯ ได้ย้ำว่าสหรัฐฯ ไม่เคยถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมก็จะได้ประกาศรับรองความเป็นเอกราชของไทย

พร้อมกับที่ส่งสาส์นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ข้างต้น นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ส่งพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) และหลวงสุขุมนัยประดิษฐ (ประดิษฐ สุขุม) ไปกรุงวอชิงตัน โดยมอบหมายให้ไปดำเนินการแก้ไขผ่อนปรนสถานการณ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ ให้หนักเป็นเบา โดยหาทางนำข่าวและข้อเท็จจริงไปชี้แจงให้ประชาชนอเมริกันได้ทราบ และขณะเดียวกันก็ขอให้ติดต่อช่องทางที่จะจัดหาสิ่งของที่จำเป็นมาบรรเทาทุกข์ราษฎรไทย และช่วยฟื้นฟูบูรณะประเทศภายหลังสงคราม พระพิศาลฯ และหลวงสุขุมฯ ได้เดินทางถึงกรุงวอชิงตันในวันที่ 18 มิถุนายน 2488 และได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ ก่อนหน้านั้น นายปรีดีได้ส่ง น.อ. หลวงยุทธกิจพิลาส (มี ปัทมนาวิน) ร.ท. ชลิต ชัยสิทธิเวช และนายกุมุท จันทร์เรือง ไปช่วยงานสถานทูตที่วอชิงตัน และมีอีกสองนายที่เดินทางไปพร้อมกับคณะของพระพิศาลฯ คือ นายลักขี วาสิกศิริ และนายแผน วรรณเมธี

โดยความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะกระตุ้นให้อังกฤษมีจุดยืนเดียวกับสหรัฐฯ ในเรื่องของประเทศไทย หากเรื่องนี้เป็นความลับที่มิได้มีการแพร่งพรายให้ผู้ใดทราบรวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ด้วย จุดยืนดังกล่าวนี้ก็คือการรับรองเอกราชและอธิปไตยของไทยภายหลังสงคราม ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ยึดถือมาตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม และหลักฐานที่เป็นเอกสารต่าง ๆ เพิ่งจะได้รับการเปิดเผยภายหลังที่สงครามได้ผ่านไปแล้วหลายสิบปี รัฐบาลอังกฤษก็เห็นชอบด้วยหลักการ แต่เนื่องจากอังกฤษถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู โดยได้มีการประกาศสงครามต่อกัน อีกทั้งอังกฤษได้รับความเสียหายในหลายด้านจากการที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่ออังกฤษ ดังนั้นถึงแม้ว่าอังกฤษจะไม่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องทำการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขในฐานะผู้แพ้สงคราม หากอังกฤษก็ประสงค์จะให้ไทยยอมรับเงื่อนไขบางประการที่ทั้งสองฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงเลิกสถานะสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างกันและกลับเป็นมิตรที่ดีต่อกันเช่นเมื่อก่อนสงคราม

ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของสงคราม การประสานงานระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรก็มีความแน่นแฟ้นเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ มีศูนย์ประสานปฏิบัติการต่าง ๆ ของตนในกรุงเทพฯ โดยพลจัตวา วิคเตอร์ เจคส์ และ พ.ต. ม.จ. ศุภสวัสดิฯ ทำหน้าที่ผู้ประสานงานด้านอังกฤษและ พ.ต. ริชาร์ด กรีนลี่ และ พ.ต. โฮเวิร์ด ปาล์เมอร์ ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ไซเรน ของ โอ.เอส.เอส. นายปรีดี พนมยงค์ ก็สามารถขยายขอบเขตของปฏิบัติการเสรีไทย ตลอดจนบุคลากรที่เข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการฯ เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ บรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ของทั้งสามเหล่าทัพได้เข้ามาร่วมงานเสรีไทยทั้งโดยทางตรงและในทางอ้อมภายใต้การประสานงานของ พล.ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่ ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา นอกจากนั้นตำรวจภายใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รองหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทั้งหมดก็มีบทบาทสำคัญ ทั้งในด้านข่าวกรอง และในด้านกำลังของเสรีไทย ในขณะเดียวกัน พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ สารวัตรใหญ่ทหารผู้ซึ่งได้เข้าร่วมรับใช้ชาติในงานเสรีไทย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2487 ก่อน พล.ต.อ. อดุลประมาณสองเดือน ก็ได้จัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตรและโรงเรียนนายสิบสารวัตรทหาร โดยรับสมัครนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นยุวชนนายทหารอยู่แล้ว และนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาและนักเรียนเตรียมปริญญาซึ่งเป็นยุวชนนายสิบ เข้าเป็นนักเรียนของทั้งสองโรงเรียนข้างต้นตามลำดับ จำนวนรวมกันทั้งสิ้นเกือบ 700 นาย บุคลากรของกรมสารวัตรทหารเหล่านี้และที่จะรับสมัครเพิ่มขึ้นต่อไป ได้รับการฝึกอาวุธทันสมัยของสหรัฐฯ โดยครูฝึกที่เป็นทั้งทหารอเมริกันและนายทหารเสรีไทยสายอเมริกา ถ้าแม้นถึงเวลาที่ไทยจะต้องเปิดฉากสู้รบกับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยในเขตกรุงเทพมหานคร บรรดานักเรียนนายทหารสารวัตรและนักเรียนนายสิบสารวัตรทหารดังกล่าวนี้ ซึ่งแต่เดิมมีวัตถุประสงค์จะส่งไปทำหน้าที่ผู้บังคับบัญชาพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศ ก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติเป็นหน่วยแรก

ในเดือนสิงหาคม 2488 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของสงครามนั้น มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจากศูนย์ปฏิบัติการ 404 โอ.เอส.เอส. และกองกำลัง 136 ของอังกฤษเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยประมาณ 50 นาย และสัมพันธมิตรได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์โดยการทิ้งร่มลงมาให้แก่พลพรรคเสรีไทยเป็นน้ำหนักประมาณ 200 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาวุธประจำตัวพลรบ เช่น ปืนยิงเร็ว ปืนกลมือ ปืนพก และลูกระเบิดมือ สงครามได้สงบลงในระหว่างที่ความช่วยเหลือจากสัมพันธมิตรกำลังทยอยเข้ามาไม่ขาดระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการขนส่งกระทำได้สะดวกโดยเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ของสัมพันธมิตรสามารถขึ้นลงสนามบินลับของเสรีไทยที่ได้สร้างขึ้นในหลายพื้นที่ และที่ได้ใช้ประโยชน์มากที่สุดในตอนปลายสงครามก็คือ สนามบินภูเขียว ที่ชัยภูมิ ซึ่งเครื่องบินลำเลียง ซี. 47 สามารถขึ้นลงได้ตลอดเวลา พ.ต. นิคอล สมิธ จาก โอ.เอส.เอส. ซึ่งเคยรับผิดชอบดูแลนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาที่ฐานปฏิบัติการซือเหมาในจีน ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยทางสนามบินภูเขียวนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2488 และได้กลับออกไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นอกจากจะเข้ามาเพื่อประเมินขีดความสามารถและความพร้อมของกำลังเสรีไทยในประเทศแล้ว นิคอล สมิธ ยังได้รับมอบหมายจากกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรฯ ให้พยายามยับยั้งนายปรีดี พนมยงค์ มิให้ลงมือปฏิบัติการสู้รบกับญี่ปุ่นจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากจอมพลเรือเมานท์แบตเทน พ.ต. สมิธได้กล่าวถึงความประทับใจในบุคลิกภาพและบทบาทของนายปรีดี ตลอดจนในตัวบุคคลต่าง ๆ และปฏิบัติการเสรีไทยภายในประเทศไว้ในหนังสือ สู่สยาม ประเทศใต้ดิน ของเขา

ในวันที่ 6 สิงหาคม 2488 เครื่องบินสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกลงที่นครฮิโรชิมา ทำลาย 220,000 ชีวิต และต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม ก็ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ลงที่นครนางาซากิ มีราษฎรญี่ปุ่นเสียชีวิตอีก 4 หมื่นคน ผู้นำประเทศสัมพันธมิตรจากที่ประชุมสุดยอดที่ปอตสดัมในเยอรมนีได้แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี กันตาโร ซูซูกิ ของญี่ปุ่น ให้ยอมจำนนประมาณสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้นว่า ถ้าหากญี่ปุ่นยังไม่ยอมจำนนก็จะถูกทำลายย่อยยับ แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธ ภายหลังวันที่ 9 สิงหาคม ญี่ปุ่นได้ขอเจรจาสงบศึกผ่านรัฐบาลสเปน ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้แจ้งผ่านสเปนไปว่าญี่ปุ่นจะต้องยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข รัฐบาลญี่ปุ่นขอต่อรองว่าขอให้สถาบันพระจักรพรรดิคงดำรงอยู่ภายหลังการยอมจำนน ซึ่งสุดท้ายก็ตกลงกันว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงฟังคำสั่งของผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตรที่จะไปยึดครองญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นยอมจำนนตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม

ในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 เวลา 15.00 น. ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม เวลา 3 นาฬิกา เวลาในกรุงเทพฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เจมส์ เบิร์นส์ ของสหรัฐฯ ได้ส่งโทรเลขถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงลอนดอน มีข้อความดังนี้คือ

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงวอชิงตัน แจ้งเราว่า

(ก) กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้อนุญาตเมานท์แบตเทนแนะนำเป็นส่วนตัวมายัง ‘รูธ’ (นายปรีดี พนมยงค์) ให้ประกาศโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นได้ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนในที่สุดแล้วนั้น บอกปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษ และสหรัฐฯ อีกทั้งมาตรการทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการนั้นที่ดำเนินไปเป็นที่เสียหายแก่สัมพันธมิตร ยกเลิกการเป็นพันธมิตรและข้อตกลงอย่างอื่นทั้งสิ้นกับญี่ปุ่น ให้ประเทศไทยและกองกำลังทหารไทยอำนวยความช่วยเหลือสัมพันธมิตร และแถลงว่าพร้อมที่จะส่งผู้แทนไปยังแคนดีทันทีเพื่อติดต่อกับสัมพันธมิตร อังกฤษได้เสนอว่าประกาศนั้นอาจกล่าวด้วยก็ได้ว่า ‘รูธ’ ได้แจ้งแก่รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯ ตั้งแต่ระยะเนิ่น ๆ แล้วว่าขบวนการเสรีไทยประสงค์ที่จะริเริ่มปฏิบัติการต่อสู้ศัตรูอย่างเปิดเผย และที่ยับยั้งไว้ก็เพราะคำร้องขออย่างจริงจังของสัมพันธมิตรด้วยเหตุผลในเชิงปฏิบัติการทางทหาร

(ข) กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้แจ้งเมานท์แบตเทนด้วยว่า ถ้าหาก ‘รูธ’ ริเริ่มดำเนินการที่จำเป็นตามที่ได้รับคำแนะนำดังกล่าว อังกฤษก็พร้อมแล้ว เนื่องจากความสนับสนุนของเสรีไทยที่ให้แก่สัมพันธมิตร และการที่สัมพันธมิตรได้ขอร้องมิให้เสรีไทยลงมือปฏิบัติการสู้รบเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในอันที่จะไม่บังคับไทยให้ปฏิบัติการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ย่อมถือว่าการนั้นเป็นกระบวนการโดยปรกติวิสัย และอังกฤษจะปรับนโยบายของตนไปตามความพร้อมของไทยที่จะชดใช้ความเสียหายในอดีต และความร่วมมือซึ่งกันและกันต่อไปในอนาคต

(ค) ถ้าหาก ‘รูธ’ ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นและจัดส่งผู้แทนไบ่แคนดี ทางอังกฤษเสนอว่าจะได้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก่อนที่จะเริ่มต้นเจรจากับฝ่ายไทยในเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไทยจะพร้อมปฏิบัติเพื่อยุติสถานะสงคราม

(ลงนาม) เบิร์นส์

ก่อนหน้านั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษก็ได้ส่งโทรเลขแจ้งจอมพลเรือลอร์ด เมานท์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ตามข้อความในหลักฐานข้างต้น และลอร์ดหลุยส์ฯ ก็ได้รีบส่งโทรเลขแจ้งนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนายปรีดีได้รับในวันที่ 15 สิงหาคม คำแนะนำของเมาน์ทแบตเทนด้วยความเห็นชอบของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งได้ประสานกับรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว มีความหมายดังนี้คือ

  1. อังกฤษมีความประทับใจอย่างยิ่งในปฏิบัติการต่าง ๆ ของขบวนการเสรีไทยและในความสุจริตจริงใจของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ที่ให้ความสนับสนุนที่มีประโยชน์ยิ่งแก่การทำสงครามต่อญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งการแสดงความจำนงอย่างจริงจังของนายปรีดี ที่จะลงมือปฏิบัติการสู้รบกับญี่ปุ่นโดยเปิดเผยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2488 หากทางสัมพันธมิตรได้ยับยั้งเอาไว้
  2. ด้วยความประทับใจดังกล่าว ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตร และรัฐบาลอังกฤษพร้อมที่จะไม่ถือว่าประเทศไทยแพ้สงคราม และจะต้องทำการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เฉกเช่นประเทศผู้แพ้สงครามทั้งหลาย เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการนี้ อังกฤษจึงแนะนำให้นายปรีดี พนมยงค์ ประกาศสันติภาพทันทีที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ โดยบอกปฏิเสธการประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐฯ ที่กระทำเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 และยกเลิกข้อตกลงที่ไทยทำไว้กับญี่ปุ่นทั้งหมด (3) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษและเครือจักรภพบางประเทศยังคงอยู่ เพราะมีการประกาศสงครามตอบ ดังนั้นให้ไทยส่งผู้แทนไปทำความตกลงเลิกสถานะสงครามโดยทันทีที่แคนดี ลังกา และในการนั้น ไทยจะต้องยอมชดใช้ความเสียหายให้แก่อังกฤษบ้าง โดยหลังจากนั้นแล้วก็จะได้ร่วมมือกันต่อไปในอนาคต โทรเลขให้คำแนะนำจากเมานท์แบตเทนดังกล่าวนี้คือผลสำเร็จโดยสมบูรณ์ของขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ นั่นคือไทยไม่เสียเอกราชและอธิปไตย ไม่ต้องยอมจำนน ไม่ต้องวางอาวุธ และไม่ต้องถูกยึดครอง สำหรับการที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งการต้องคืนดินแดนที่ญี่ปุ่นมอบให้ทั้งทางด้านมลายูและทางด้านสหรัฐไทยใหญ่ ก็ต้องถือเป็นเรื่องที่สมควร เพราะความเสียหายของสัมพันธมิตรก็ดี และดินแดนที่ไทยได้มาระหว่างสงครามก็ดี เป็นผลจากการที่ไทยเข้าร่วมมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามต่อสัมพันธมิตร ดังนั้นเมื่อจะบอกปฏิเสธการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสัมพันธมิตร ก็จำเป็นจะต้องยอมรับภาระเหล่านี้ เพราะจะคิดเอาแต่ได้ด้านเดียวคงจะไม่ถูกต้อง

ทันใดที่ได้รับสาส์นของ ลอร์ด เมานท์แบตเทน นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้เชิญ พ.ต. ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี และนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีสั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรี มาปรึกษาเพื่อที่จะประกาศสันติภาพ และเห็นควรว่าจะเป็นประกาศพระบรมราชโองการ โดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯ ในพระปรมาภิไธยฯ และนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อตกลงกันแล้ว ก็ได้ติดต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมสภาฯ เป็นการด่วนในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 และประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้อ่านประกาศสันติภาพ มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า

การประกาศสงครามต่อสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้…

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบกับประกาศสันติภาพนั้นเป็นเอกฉันท์

ในวันที่ 25 กันยายน 2488 พลพรรคเสรีไทยจำนวนประมาณ 8,000 นายจากทั่วประเทศได้เดินสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นประธาน การสวนสนามของเสรีไทยมีวัตถุประสงค์นอกเหนือไปจากการฉลองความสำเร็จของภารกิจเพื่อชาติก่อนที่จะสลายตัวแล้ว ก็ยังเพื่อแสดงให้เห็นว่าบรรดาอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ได้รับจากสัมพันธมิตรยังอยู่ครบไม่สูญหาย อีกทั้งเพื่อแสดงความพร้อมในการสู้รบเมื่อถึงเวลา อาวุธของเสรีไทยเหล่านี้ได้นำไปเก็บไว้ที่กรมสรรพาวุธทหารบกเป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่มีจำนวนหนึ่งที่ได้ถูกส่งไปช่วยงานกู้ชาติญวน ซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช นายปรีดี พนมยงค์ มีความเชื่อว่าการเป็นเอกราชและมีอิสรภาพของลาว เขมร และญวน มีความหมายและความสำคัญต่อประเทศไทย จึงได้ให้ความสนับสนุนด้วยความเห็นอกเห็นใจแก่งานกู้ชาติของชาวอินโดจีนผู้รักชาติทั้งมวล

ในวันเดียวกัน ภายหลังการสวนสนาม ณ สโมสรมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่าพระจันทร์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวคำปราศรัยแก่บรรดาผู้แทนพลพรรคเสรีไทย มีสาระสำคัญว่า

ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล…วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนไขเวลาสุดสิ้น กล่าวคือเมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลายก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา…ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง” คำปราศรัยดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการสลายตัวของขบวนการเสรีไทย ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติซึ่งขบวนการเสรีไทยได้ใช้ประโยชน์ไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ สรุปว่าการใช้ประโยชน์เป็นไปโดยสุจริตและมีหลักฐานตามความจำเป็นทุกกรณีโดยถูกต้อง

การสลายตัวของขบวนการและพลพรรคเสรีไทยในเวลาค่อนข้างจะรวดเร็วภายหลังที่ได้เอกราชและอธิปไตยคืนมานั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้กระทำด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่ประสงค์จะให้เกิดข้อครหาว่ามีการฉกฉวยโอกาสรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้โดยอ้างความรักชาติบังหน้า ดังนั้นเมื่อภารกิจในการรับใช้ชาติในบริบทของเสรีไทยได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ขบวนการเสรีไทยก็ต้องสลายตัวไปโดยมิรอช้า นายปรีดีมีความเชื่อว่าความรักชาติย่อมพิสูจน์จากการกระทำเท่านั้น มิใช่โดยคำพูด

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จในภารกิจเสรีไทย ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญในระดับความเป็นความตายของชาติ และเกี่ยวโยงกับนโยบายและการตัดสินใจของประเทศมหาอำนาจ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนนับเป็นหมื่น ๆ คนที่มีความแตกต่างกันในภูมิหลังที่จะต้องหล่อหลอมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อมุ่งความสำเร็จในเป้าประสงค์เดียวกัน ทั้งนี้โดยยังมิต้องกล่าวถึงการปฏิบัติภารกิจท่ามกลางอันตรายรอบด้านและมีความเสี่ยงสูง ก็จำต้องยอมรับว่านายปรีดี พนมยงค์ มีสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ความถูกต้องถ่องแท้ในวิจารณญาณและการตัดสินใจ ตลอดจนความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่จะปฏิบัติในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของชาติเป็นส่วนรวมอย่างหาที่เปรียบได้ยาก อย่างไรก็ดี สำหรับความสำเร็จของนายปรีดี พนมยงค์ ในปฏิบัติการเสรีไทยนั้นน่าจะเนื่องจากเหตุผลสำคัญห้าประการคือ

  1. ความรู้และประสบการณ์ที่กว้างขวางลึกซึ้งของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำให้สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าสัมพันธมิตรจะชนะและญี่ปุ่นจะต้องแพ้สงครามอย่างแน่นอนซึ่งเป็นการคาดการณ์ตั้งแต่วันแรกของสงคราม และอาศัยการวิเคราะห์ศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการทำสงครามของคู่สงครามเป็นหลัก
  2. ความเด็ดเดี่ยวและความกล้าหาญของนายปรีดี พนมยงค์ ในการปฏิบัติภารกิจที่ต่อเนื่องเป็นเวลาถึงสี่ปีอย่างเคร่งเครียด โดยไม่ท้อถอยแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่รู้ตัวดีว่าเป็นงานที่มีอันตรายถึงชีวิตในขณะหนึ่งขณะใด
  3. ความมั่นคงในอุดมการณ์และในความรักชาติบ้านเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ อย่างมิรู้เสื่อมคลาย
  4. ประสบการณ์ของนายปรีดีเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร การบริหารองค์กร ตลอดจนการรักษาความลับขององค์กร
  5. การเลือกเฟ้นผู้ร่วมงานที่เหมาะสม คือเป็นผู้กล้าหาญ มั่นคงในอุดมการณ์ ขีดความสามารถสูง และมีความจงรักภักดี ตลอดจนรู้จักการรักษาความลับมิให้แพร่งพรายออกไป เช่น นายทวี บุณยเกตุ นายดิเรก ชัยนาม นายวิจิตร ลุลิตานนท์ น.อ. บุง ศุภชลาศัย พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ พล.ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ ฯลฯ หรือผู้ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม เช่น นายจำกัด พลางกูร นายทวี ตะเวทิกุล น.ท. ทวี จุลละทรัพย์ พ.อ. เนตร เขมะโยธิน นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายสุวรรณ รื่นยศ ฯลฯ เพื่อนร่วมงานเหล่านี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้ภารกิจเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ บรรลุความสำเร็จ ทั้งนี้โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงว่าบรรดาเสรีไทยทั้งหลายได้ปฏิบัติภารกิจในความรับผิดชอบอย่างตั้งใจ รอบคอบ เด็ดเดี่ยว และกล้าหาญ ด้วยความรักชาติบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจ