ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ปรีดีและธรรมศาสตร์

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

เกริ่นนำ

ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ชาตะเมื่อ 11 พฤษภาคม 2443 และอสัญกรรมเมื่อ 2 พฤษภาคม 2526 ศึกษาจบมัธยม 6 จากโรงเรียนตัว อย่างมลฑลกรุงเก่า แล้วเข้าศึกษาโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมในปี 2460 สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต เมื่อปี 2462 อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ระหว่างปี 2463-2469 ได้รับทุนไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส จนได้ปริญญารัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” (Docteur en Droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) และได้ประกาศนียบัตรการศึกษาขั้นสูงทางเศรษฐกิจ (Diplome d’Etudes Superieures d’ Economie Politique)

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ท่านปรีดีได้ร่วมกับข้าราชการทหารและพลเรือนจำนวน 100 กว่านายในนามของ “คณะราษฎร” ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณา-สิทธิราช มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์โดยรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (คนแรก) เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้เสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย การต่างประเทศ การคลัง และในระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้าขบวนการใต้ดิน “เสรีไทย” เพื่อรักษา เอกราชและอธิปไตยของประเทศ ได้รับแต่งตั้งเป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” และเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังวิกฤตการเมือง

2490-2492 ท่านปรีดีได้ลี้ภัยการเมืองไปพำนักอยู่ประเทศจีน และในปี 2513 ได้ย้ายไปพำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงอสัญกรรมเมื่อปี 2526

ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยเมื่อปี 2476-2477 นั้น ท่านได้ดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัย “ตลาดวิชา” แห่งแรกของสยาม คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งมีลักษณะ “พิเศษ” เกี่ยวพันกับการเมืองและความเป็นไปของชาติ ตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ดังนั้นในบทความนี้ประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นจุดกำเนิดและวิวัฒนาการเริ่มแรกของ มธก. อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะวางแนวทางของมหาวิทยาลัยสืบต่อมา

เมื่อต้นปี 2526 อาจารย์และนักวิจัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ดำริที่จะทำงานวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์” ผมซึ่งสมัยนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา (ซึ่งมี ศ. เสน่ห์ จามริก เป็นผู้อำนวยการ) และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี (ฝ่ายวัฒนธรรม เฉลิมฉลองธรรมศาสตร์ 50 ปี ซึ่งมี ศ. นงเยาว์ ชัยเสรี เป็นอธิการบดี) ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ได้ติดต่อกับท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ณ กรุงปารีส เพื่อขอเข้าสัมภาษณ์จากท่านโดยตรง ท่านได้มีจดหมายนัดแนะอย่างเป็นทางการว่าให้ไปพบได้ในวันที่ 7 และ 9 พฤษภาคม พร้อมทั้งให้การบ้านแก่ผม ให้เตรียมตัวศึกษาไว้ก่อนล่วงหน้า คือ ท่านบอกว่าควรดู

  1. สุนทรพจน์ของท่านเกี่ยวกับเรื่องของธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านเคยให้ไว้ในสมัย ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี (30 มกราคม 2518 ถึง 6 ตุลาคม 2519)
  2. นอกจากนั้นก็ให้หาประวัติเกี่ยวกับการซื้อโอนที่ดินที่ท่าพระจันทร์
  3. ให้ดูหลักสูตรของ มธก. หลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก
  4. ให้ดูหลักสูตร ตมธก.

แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 นั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ถึงอสัญกรรมก่อนหน้าวันนัดหมายที่ผมจะไปพบท่านเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ แทนที่จะได้ไปสัมภาษณ์เพื่อเขียนงานประวัติศาสตร์ ผมก็กลับกลายเป็นไปงานฌาปนกิจศพของท่านที่ทำกันอย่างเรียบง่ายและสมเกียรติที่กรุงปารีส ท่านกลายเป็นหนึ่งใน “แต่คนดี เมืองไทยไม่ต้องการ” ที่ต้องลี้ภัยการเมืองและอำนาจมืดของรัฐและจบชีวิตในต่างแดน เหมือน ๆ อย่างที่ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ต้องประสบในอีก 16 ปีต่อมา ผมต้องขอขอบคุณสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่ให้กู้เงินเป็นค่าเครื่องบินเดินทางและค่าใช้จ่ายในการไปร่วมงานศพครั้งนี้ ผมได้กลายเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปโดยมิได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแต่ประการใด

จากการบ้านข้างต้นที่ท่านผู้ประศาสน์การปรีดีได้ให้ไว้แก่ผม ก็อาจถือเป็นแนวทางในการสืบเสาะประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น “มหาวิทยาลัยของสามัญชนที่ไม่สามัญ” ผมจะขอจำกัดเรื่องราวเพียงช่วงระยะจากปี 2477 ซึ่งเป็นปีของการสถาปนา มธก. ไปจนกระทั่งถึงช่วงประมาณปี 2490-2492 ซึ่งเป็นช่วงของรัฐประหาร 2490 และสิ่งที่เรียกกันว่า “กบฎวังหลวง 2492” หรือที่ท่านปรีดีเองเรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” ซึ่งเป็นความพยายามจะยึดอำนาจคืนจากคณะรัฐประหาร 2490 นำประเทศกลับไปสู่ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งนั้น เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มีระยะเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่ท่านปรีดีเกี่ยวข้องและผูกพันกับมหาวิทยาลัยโดยตรง

หลังจากนั้นแล้วเมื่อบ้านเมืองขาดประชาธิปไตย ระบอบอำนาจนิยมเข้าครอง มหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนแปลงไป แม้แต่ชื่อเดิมก็ถูกตัด คำว่า “วิชา” และ “การเมือง” ออก ฝ่ายอำนาจนิยมผลัดเวียนกันเข้ามา “รักษาการ” อย่างเช่นหลวงวิจิตรวาทการ (2493-2494) พลโท สวัสดิ ส. สวัสดิเกียรติ (2494-2495) ในฐานะตัวแทนคณะรัฐประหาร และท้ายที่สุดตำแหน่งผู้ประศาสน์การก็ถูกยุบ กลายเป็นตำแหน่งอธิการบดีที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาดำรงอยู่เมื่อ 2495-2500 หรือจอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ยังเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ระหว่าง 2503-2506 ดังนั้นท่านปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยแต่เพียงผู้เดียว และไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีเหมือนอย่างบุคคลอื่นๆ

ในช่วงระยะเวลา 15 ปีแรกของ มธก. นั้น ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับ ท่านปรีดีอาจแบ่งได้เป็นสามหัวข้อ และขอบรรยายตามลำดับ ดังนี้

  1. ปรัชญาในการสถาปนามหาวิทยาลัย
  2. การบริหาร การเรียน และการสอน (ธ.บ. และ ตมธก.)
  3. ชีวิตและวิญญาณของธรรมศาสตร์

ปรัชญาของการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

หากจะเท้าความย้อนกลับไปในอดีตให้ไกล หรือพยายามหาความต่อเนื่องตามประเพณีของศาสตร์ว่าด้วยประวัติ และสิ่งที่นักประวัติศาสตร์มักจะชอบทำกัน (ประเภทจากภูเขาอัลไตถึงอาณาจักรน่านเจ้า เรื่อยมาถึงสุโขทัย อยุธยา แล้วก็รัตนโกสินทร์) ละก็ เรามักจะได้ยินกันว่า ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันที่สืบเนื่องมาจากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม โรงเรียน กฏหมายมีกำเนิดควบคู่กับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งก็เกิดในยุคสมัยเดียวกันกับโรงเรียนนายร้อยทหารบก (จปร.) และโรงเรียนนายเรือ โรงเรียนกฎหมายนั้นตั้งในปี 2440 ส่วนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนตั้งในปี 2442 ทั้งสองสถาบันเป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษา “ด้านพลเรือน”Ž โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับการยกสถานะขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2459 ส่วนโรงเรียนกฎหมายก็ยังดำรงสถานะเดิมอยู่เรื่อยมา กว่าจะได้รับการยกฐานะก็อีกเกือบสองทศวรรษให้หลัง (แต่ก็ต้องถูกยุบไปรวมกับจุฬาฯ ในระยะเวลาสั้น ๆ อยู่หนึ่งปี เมื่อ 2476)

นั่นเป็นสิ่งที่เราอาจเรียกได้ว่าเป็นความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ จากโรงเรียนกฎหมาย กลายเป็น มธก. แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว มธก. ก็ถือได้ว่าเป็นทั้ง “ความแปลก” และ “ความใหม่” ของการศึกษาสยาม/ไทย ทั้งนี้หากจะพูดให้ตรงแล้ว มธก. ถือได้ว่าเป็นผลพวงหรือ “คู่แฝด” ของการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 อย่างไม่ต้องสงสัย หากไม่มี 24 มิถุนายน 2475 ก็อาจจะไม่มี (วันสถาปนา มธก.) 27 มิถุนายน 2477 ถ้าหากเราจะดูจาก “คำประกาศของคณะราษฎร” ในวันยึดอำนาจได้กล่าวว่าการที่ “ราษฎร” ยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ (ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตย) นั้น “เป็นเพราะขาดการศึกษาที่เจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่” ดังนั้นในนโยบายหรือสิ่งที่เรียกว่า “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร ก็มีข้อหนึ่งที่ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” มีผลทำให้ต้องตั้ง มธก. ขึ้นมานั่นเอง

เมื่อมองในแง่นี้ การสถาปนา มธก. ในปี 2477 ก็มากับหลักประการที่ 6 ของคณะราษฎร กำเนิดมาควบคู่กับการปกครองในลักษณะใหม่ เมื่อประเทศมีรัฐธรรมนูญ มีประชาธิปไตย ก็ต้องมีสถาบันการศึกษาแบบใหม่ อันนี้จึงเป็นหลักปรัชญาพื้นฐานในการก่อตั้งเป็นหลักของการเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน การเปิดและกฎเกณฑ์ที่แน่นอนนี้เป็นลักษณะที่สำคัญที่สุดลักษณะหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้าม การปิดเป็นความเลวร้ายของอำนาจนิยมและเผด็จการ

ในแง่ของการเปิดและการมีเสรีภาพนั้น อยากนำความรู้สึกของ “ธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงคนแรก” ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ (2526) คือคุณหญิงบรรเลง ชัยนาม เมื่อถามท่านว่าประทับใจ อย่างไรบ้างเมื่อเข้ามาเรียนธรรมศาสตร์ตอนนั้น และจบเป็น ธ.บ. หญิงคนแรก เมื่อ 2478 ท่านตอบว่า

เอ ตอบยาก อาจจะประทับใจความมีเสรีภาพในการเล่าเรียน เป็นตลาดวิชาแล้วก็ให้เสรีภาพเสมอภาคกัน ให้เรียนวิชาต่างๆ ที่อยากรู้ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะอะไรอย่างนี้ เข้าไปแล้วรู้สึกสบายใจ อย่างบางโรงเรียนก็อาจมีเข้าไปแล้วแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่ธรรมศาสตร์ให้ความเสมอภาคกันหมด สบายใจ วิชาที่เรียนเป็นวิชาที่รักและสนใจ

ถ้าเราจะดูจากคำกล่าวของท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 อันเป็นวันสถาปนา มธก. ณ ที่ตั้งเก่าของโรงเรียนกฎหมาย (ถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ซึ่ง มธก. ตั้งอยู่ ณ ที่นั่นสองปี คือ ปี 2477-2479 ก่อนจะย้ายมาซื้อที่ดินได้ที่วังหน้า ท่าพระจันทร์ ตึกเก่าจึงกลายเป็นกรมโฆษณาการและกรมประชาสัมพันธ์ไปในที่สุด และถูกประชาชนเผาเสียราบเมื่อเหตุการณ์พฤษภามหาโหด 2535) นั้น ท่านได้กล่าวไว้ว่า

การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะของมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้นการที่จะอำนวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานการศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น

ท่านพูดต่อไปอีกว่า

มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น

นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่ากำเนิดของ มธก. มีผลมาจากแรงผลักดันของอดีตนักเรียน โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม กล่าวคือในปี 2476 สมัยรัฐบาลอนุรักษนิยมช่วงเปลี่ยน ผ่านของนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมได้ถูกโอนไปขึ้นกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่หนึ่งปี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่นักเรียนโรงเรียนกฎหมาย ที่โรงเรียนอันเก่าแก่ และมีชื่อเสียงของตนเสมือนถูกยุบให้ละลายหายไป แทนที่จะได้เลื่อนสถานะเป็นมหาวิทยาลัย จึงมีผลผลักดันให้นักเรียนกฎหมายดังกล่าวเคลื่อนไหวให้มีการก่อตั้ง มธก. ขึ้น

ในเรื่องนี้มีบันทึกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนกระแสและพลังของนักเรียนกฎหมายในตอนนั้นเป็นอย่างดี คือ บันทึกของคุณสงัด ศรีวณิก (ธรรมศาสตร์บัณฑิต ปี 2481) คุณสงัด ศรีวณิก บันทึกไว้ในหัวข้อ “โดมรำลึก” ว่า

ครั้นภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อมิถุนายน 2475 แล้ว พวกเราประมาณ 4-5 คน ซึ่งเป็นนักเรียนกฎหมายอยู่ในเวลานั้น ได้ไปเยี่ยมท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ เพิ่งหายจากการป่วยไข้หวัด เราได้สนทนาและปรารภกันถึงฐานะของโรงเรียนกฎหมายซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาชั้นสูง ควรจะได้รับการสถาปนาให้เป็นมหาวิทยาลัยบ้างหรือไม่ เพราะในขณะนั้นก็มีสถาบันชั้นอุดมศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยก็มีเพียงแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่เพียงแห่งเดียว

กล่าวโดยย่อ มธก. ก็เป็นผลพวงของการปฏิวัติ 2475 ที่บรรจบพอดีกับกระแสของ นักเรียนโรงเรียนกฎหมายที่ต้องการผลักดันยกฐานะของโรงเรียนของตนให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มี ลักษณะเปิดกว้าง เป็น “ตลาดวิชา” ที่น่าสนใจก็คือ ทันทีที่เปิดมหาวิทยาลัยในปี 2477 นั้น มีคนสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนมากมายมหาศาลและล้นหลามถึง 7,094 คน (แน่นอน ส่วนหนึ่งคือผู้ที่โอนมาจากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จุฬาฯ หรือนักเรียนโรงเรียนกฏหมายเก่านั่นเอง) แต่ส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่จบมัธยมบริบูรณ์ (มัธยม 8 ในสมัยนั้น) ซึ่งสามารถสมัครเข้าได้ทันที อันนี้ไม่ประหลาดอะไรเพราะ มธก. เป็นตลาดวิชา แต่ถ้าเราดูไปแล้ว คนที่สามารถสมัครเข้าได้นั้น จะรวมถึงข้าราชการตั้งแต่เสมียนขึ้นไป (ถ้าผู้บังคับบัญชารับรอง) ซึ่งก็เกิดการกระจายของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างไม่เคยมีมาก่อนเปิดกว้างมาก นอกจากนี้ผู้ที่สมัครเข้าได้ทันทีอีกพวกหนึ่ง ก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (รุ่นแรกจากการเลือกตั้ง 2476) ผู้แทนตำบล เป็นต้น

จำนวนผู้สมัคร 7,094 นั้น ชี้ให้เราเห็นถึงความต้องการการศึกษาในระดับสูงมาก กล่าวได้ว่าในทศวรรษ 2470 นั้นมีคนจำนวนหนึ่งรอจะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาค่อนข้างหนาแน่น แต่หลังจากนั้นจนถึงประมาณปี 2490 นักศึกษาที่สมัครเข้า มธก. จะมีจำนวนคงที่และปานกลาง คือ เพียงประมาณ 500 คนต่อปี อนึ่งถ้าเราดูจากคนที่สมัครเข้ามาใน มธก. เราอาจพูดได้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง หรือกระฎุมพีในเมือง หรือใช้ศัพท์ของท่านปรีดี พนมยงค์ ก็บอกได้ว่าเป็น “ชาวบุรี” สะท้อนให้เห็นคลื่นหรือแรงผลักดันในการที่มีความต้องการการศึกษาของคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าชะงักงันหรือรอมาเป็นเวลานาน แล้วก็สบโอกาสในการเลื่อนสถานภาพของตนที่มาพร้อมกับหลักประการที่ 6 ของคณะราษฎร

ขอแทรกตรงนี้หน่อยว่า ช่วงปี 2475-2477 นั้น ประเทศสยาม (ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อทางการเป็นประเทศไทยจนกระทั่ง 2482) มีประชากร 12 ล้านคน มีนักเรียนระดับประถมและมัธยม 794,602 คน (ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้มีนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา (มัธยมปลาย ม. 7-8 เดิม) เพียง 2,206 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมาก สมัยนั้นกรุงเทพมหานครมีประชากรเพียง 5 แสนคน ในปี 2475 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่ง เดียวมีผู้จบการศึกษาเพียง 68 คน ฉะนั้นทันทีที่เปิด มธก. จึงมีนักศึกษาถึง 7,094 คน เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมากของการศึกษาไทย

นอกเหนือจากปรัชญาในการก่อตั้งในแง่ของประชาธิปไตยแล้ว ยังเห็นว่ามีปรัชญาที่เน้น ในเรื่องของกฎหมายหรือ “หลักนิติธรรม” rule of law อีกด้วย ทั้งนี้เพราะการปฏิวัติ 2475 ต้องการสถาปนากฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเป็นหลักอยู่เหนือบุคคล แน่นอน มธก. มาจากโรงเรียนกฎหมาย การศึกษาเน้นหนักด้านกฎหมายจึงไม่ประหลาดอะไรนัก แต่เดิมมีหลักสูตรสองปีระดับประกาศนียบัตร เมื่อเกิด มธก. เปลี่ยนเป็นระดับปริญญา มีหลักสูตรสามปี มีหกภาคการศึกษา ลักษณะของธรรมศาสตร์ในตอนนี้ยังเน้นด้านกฎหมายอย่างมาก เพราะเป็นมรดกตกทอดมาจากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม

การตั้งสถาบันการศึกษาของไทยในระยะเริ่มแรก เป็นเรื่องของหน่วยราชการที่จะสร้างคนของตนขึ้นมาใหม่เพื่อป้อนหน่วยงานของตนเอง มีลักษณะเป็นสายวิชาชีพนั้น ๆ โดยเฉพาะ อย่างด้านการปกครองก็เป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ด้านการเกษตรก็เป็นโรงเรียนด้านการเกษตร (ที่จะกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ด้านศิลปะก็เป็นโรงเรียนประเภทช่างศิลป์ (ที่กลายมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร) ด้านแพทย์ก็เป็นโรงเรียนแพทย์ (ที่กลายเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) ฯลฯ รวมไปถึงบรรดาโรงเรียนทหารบก-เรือ-อากาศ-ตำรวจทั้งหลาย มธก. ก็มีลักษณะกลายพันธุ์มาดังนี้ แต่ก็จะมีลักษณะกลายพันธุ์ที่แปลกและใหม่เช่นกัน

เมื่อดูจากวิชาที่เรียนกันใน มธก. มีการเรียนวิชาธรรมศาสตร์ในความหมายของกฎหมายทั่วไป เน้นในการเรียนกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่และสำคัญในเมืองไทยยุคของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเก่าก่อนสมัยใหม่ (pre-modern) สู่สมัยใหม่ เข้าใจว่าท่านที่ศึกษาและคุ้นเคยกับเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือในสมัยรัชกาลที่ 4, 5, 6 คงจะเห็นได้ว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากของสังคมไทยในการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ คือกฎหมายที่วิธีพิจารณาความยังเป็นแบบสังคมศักดินาอยู่ คือ พิสูจน์ด้วยการดำน้ำ ลุยไฟ ตลอดจนวิธีการจองจำ หรือการไต่สวนอย่างทรมานทรกรรม ดังนั้นหากจะได้รับการยอมรับว่าเป็น “อารยะ” เท่าเทียมกับนานาประเทศจะต้องมีการร่างพระราชบัญญัติหรือกฎหมายต่างๆขึ้นมาใหม่ ใช้แทนกฎหมายเก่าที่เรามีอยู่ทั้งหมด

ดังนั้น ลักษณะของการเรียนที่ธรรมศาสตร์ก็เน้นเรื่องกฎหมายอย่างที่กล่าวมาแล้ว มีการเรียนกฎหมายทั่วไป กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา แต่ที่ใหม่เข้ามาตอนนั้นก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ แน่นอนเมื่อธรรมศาสตร์เกิดมาหลัง 2475 กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งแต่เดิมต้องแอบแฝงอยู่ในกฎหมายปกครองในสมัยราชาธิปไตย ก็สามารถปราฏตัวออกเป็นวิชาอิสระของตัวเองได้ ไม่ต้องแอบอิงอยู่กับกฎหมายปกครองอีกต่อไป นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาวิชาต่างๆนอกเหนือจากกฎหมายอีก วิชาเหล่านี้เป็นวิชาต้องห้ามไม่มีการสอนในสมัยราชาธิปไตย เช่น วิชาลัทธิเศรษฐกิจ วิชาเศรษฐศาสตร์ สรุปแล้วการศึกษาเน้นที่กฎหมายก็จริง แต่การศึกษาจะกว้างขวางกว่าเดิมมีวิชาอื่นๆที่ต้องห้ามประกอบด้วย

หลักสูตรปริญญาตรีของธรรมศาสตร์นั้นมีปริญญาเดียว คือ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อวันเปิดมหาวิทยาลัย คือ วันที่ 27 มิถุนายน 2477 นั้น มีสูจิบัตรแจก เป็นสูจิบัตรพิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีกรุงชื่อว่า “แนวการศึกษาชั้นปริญญาตรี โท และเอก แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (ดูเอกสารดังกล่าวที่ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์ศรีกรุง และนำมาพิมพ์ซ้ำในธรรมศาสตร์ 50 ปี)

หมายความว่าเมื่อเปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นมีโครงการถึงปริญญาเอก แล้วก็ ดำเนินการไปเลย ในปริญญาตรีอย่างที่เราทราบกันมีปริญญาเดียว คือธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.) ปริญญาโทแตกออกไปเป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ (ส่วนทางด้านการบัญชีนั้นต่อมาจะมีประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี เทียบเท่าปริญญาโท) ในระดับปริญญาเอกก็มีสี่แขนงเช่นเดียวกัน คือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต ในระดับปริญญาตรีและโทนั้นมีการเรียนการสอน ส่วนในระดับปริญญาเอกไม่มีการเรียนการสอน (แบบยุโรป) ถ้าจะลองดูจากหลักสูตรปริญญาเอก จะมีดังนี้

  1. ให้ทำการค้นคว้าจากภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ค้นคว้าจนเป็นที่น่าพอใจ
  2. ให้แต่งตำราเป็นภาษาไทย ถ้าจะแปลความในสมัยปัจจุบันก็คือเขียนวิทยานิพนธ์ แล้วก็สอบปากเปล่า เมื่อกรรมการพอใจ ก็ได้รับปริญญาเอกไป

อันนี้เป็นสิ่งที่คิดว่ามหัศจรรย์มาก ธรรมศาสตร์เกิดขึ้นมา พ.ศ. 2477 มีถึงปริญญาเอกทันที น่าเสียดายที่ต่อมาปริญญาเอกหายไป ได้สัมภาษณ์บุคคลบางคนที่ได้ปริญญาเอก เช่น ดร. บรรจบ อิศดุลย์ ซึ่งเคยสอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ ถามท่านว่ามันหายไปไหน ท่านก็บอกไม่ทราบเหมือนกันอยู่ดี ๆ มันก็หายไปดื้อ ๆ เหลือแต่ปริญญาโท ถ้าจะมีปริญญาเอกคงต้องมาตั้งต้นกันใหม่ (ดังที่กำลังดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้)

ทีนี้ กลับไปในเรื่องที่เกี่ยวกับการที่ธรรมศาสตร์เน้นเรื่องกฎหมาย ทำไมธรรมศาสตร์เน้นเรื่องกฎหมาย เข้าใจว่าท่านผู้ประศาสน์การคงมีปรัชญาในการก่อตั้ง เพื่อที่จะวางรากฐานลัทธิรัฐธรรมนูญ แปลความว่าเพื่อขจัดสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นอัตตาธิปไตยหรือคณาธิปไตย โดยให้มีกฎเกณฑ์เป็นหลัก หรือจะใช้คำเก่า จะใช้คำอะไร คงบอกว่าให้มี “ธรรมะ” ที่เป็นกฎเกณฑ์ในการปกครองสังคม ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ดังนั้นจุดเริ่มต้นของธรรมศาสตร์จึงมาจากเรื่องกฎหมาย ลองสังเกตดูและเห็นว่า คำว่า “ธรรมะ” นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของชื่อมหาวิทยาลัยแล้ว ยังจะมีควบคู่ไปกับธรรมศาสตร์อยู่ตลอดเวลา ทั้งในเรื่องปรัชญาพื้นฐานและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในเรื่องของเพลงมหาวิทยาลัย และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับธรรมศาสตร์ ลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อนข้างเป็นนามธรรมที่จะสร้างกฎเกณฑ์ให้แก่สังคมไทยสมัยใหม่

ในหัวข้อของปรัชญานี้ เมื่อดูจากการเลือกใช้ชื่อ ธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นชื่อมหาวิทยาลัย เข้าใจว่านี่เป็นสิ่งหนึ่งที่จะบอกถึงปรัชญาของการก่อตั้ง ดังที่กล่าวแล้วแต่ตอนต้น ผมพยายามที่จะไปสัมภาษณ์ท่านผู้ประศาสน์การ ทำไมท่านให้ชื่อมหาวิทยาลัยอย่างนี้ ทำไมเลือกสีเหลืองและแดง ฯลฯ แต่ผมก็บุญน้อยมิได้สัมภาษณ์อย่างที่กล่าวแล้ว ดังนั้นผมจึงต้องลองดูจากเอกสารรอบตัว ในแง่นี้ ความคิดการก่อตั้ง การใช้ชื่อนี้มีภูมิหลังอย่างไร คำว่า ธรรมศาสตร์ หมายถึง กฎหมายที่เป็นแม่บทวางระเบียบสังคมสมัยเก่า ท่านปรีดีคงดึงเอามาใช้ในสมัยใหม่ เราเห็นได้ชัดเลย มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นสถาบันแรกที่นำกฎหมายตราสาม-ดวงที่รวบรวมขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก พร้อมทั้งมีคำนำในการจัดพิมพ์ครั้งนั้นโดยท่านผู้ประศาสน์การ กฎหมายตราสามดวงนี้เราก็ทราบดีว่ามีพระธรรมศาสตร์เป็นหัวใจของกระบวนกฎหมายทั้งหมด นี่เป็นการดึงเอาสัญลักษณ์ของกฎเกณฑ์ของสังคมเก่ามาใช้ (คำว่าธรรมศาสตร์นี้ในสมัยใหม่เริ่มเปลี่ยนความหมายไปบ้าง กลายเป็นแปลว่า กฎหมายทั่ว ๆ ไปก็ได้)

ทีนี้เราลองดูอีก ใน “พระราชบัญญัติราชบัณฑิตสถาน” พ.ศ. 2476 มีการแบ่งงานของราชบัณฑิตสถานเอาไว้เป็นสามสำนัก

สำนักที่ 1 ธรรมศาสตร์และการเมือง
สำนักที่ 2 วิทยาศาสตร์
สำนักที่ 3 ศิลปกรรม

เห็นได้ชัดว่าคำว่าธรรมศาสตร์และการเมืองนี้ได้ใช้มาก่อนหน้าการตั้งมหาวิทยาลัย อยากจะโยงกลับไปว่า วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในความหมายของโลกสมัยใหม่ อาจจะมีส่วนหนึ่งซึ่งเป็นอิทธิพลของฝรั่งเศส เข้าใจว่าท่านปรีดีอาจจะใช้ความคิดเดิมเรื่องพระธรรมศาสตร์กับความคิดใหม่ ทั้งนี้เพราะมีสถาบันหนึ่งในฝรั่งเศส ที่เรียกว่า Institut de France ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “สถาบันฝรั่งเศส” สถาบันนี้คงจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเพิ่งตั้งขึ้นมา คือ ราชบัณฑิตสถาน สถาบันฝรั่งเศสแบ่งสำนักของเขาออกเป็น academie มีทั้งหมด 5 (ของเราแบ่งเป็น 3) ดังนี้

  1. Academie Francaise
  2. Academie des Sciences หรือ สถาบันวิทยาศาสตร์
  3. Academie des Sciences Morales et Politiques ถ้าจะแปลก็คือ สถาบันวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
  4. Academie des Beaux-Arts หรือสถาบันวิจิตรศิลป์
  5. Academie des Inscriptions et Belles-Lettres หรือสถาบันจารึกและอักษรศาสตร์

สำหรับสถาบันที่ 3 น่าสนใจ สามารถโยงมาเรื่องธรรมศาสตร์ของเราได้ เพราะชื่อภาษา อังกฤษของธรรมศาสตร์ในตอนแรกมิใช่ Thammasat University แต่เป็น University of Moral and Political Sciences (UMPS) ซึ่งก็คือ Sciences Morales et Politiques นั่นเอง สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางความคิดสมัยใหม่ทางด้านวิชาการจากฝรั่งเศสใน มธก. และในราชบัณฑิตสถานไม่น้อย

การบริหาร การเรียน และการสอน (ธ.บ. และ ตมธก.)

ในด้านการบริหารและจัดการนั้น เข้าใจว่า มธก. อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่กำเนิดเป็นอิสระแต่ต้น (แต่จะถูกทำให้กลายเป็นระบบราชการในภายหลัง) ไม่ขึ้นเป็นองค์กร ส่วนของราชการตามปรกติ มหาวิทยาลัยเลี้ยงตัวเองมาแต่เริ่มแรก ขอให้เรามาดูจากรายรับ รายจ่ายของมหาวิทยาลัย

2477
รายรับ 6 แสนบาท
รายจ่าย 1 แสนบาท (เพราะมีนักศึกษาสมัครเข้ามามาก ดังกล่าวข้างต้น)
2485
รายรับ 4 แสนบาท (น้อยลงไปเพราะตอนนี้นักศึกษาคงตัวแล้ว)
รายจ่าย 2 แสนบาท
2489 (ก่อนสิ้นสุดสมัยท่านผู้ประศาสน์การ)
รายรับ 1 ล้าน 3 แสนบาท
รายจ่าย 7 แสนบาท

กล่าวโดยย่อ มหาวิทยาลัยมีรายรับมากกว่ารายจ่ายทุกปี ในสมัยท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยเลี้ยงตัวเองมาตลอด ส่วนหนึ่งมาจากค่าบำรุงของนักศึกษา ค่าเล่าเรียนในสมัยนั้นปีละ 20 บาท ถูกกว่าค่าเล่าเรียนมัธยมปลายครึ่งต่อครึ่ง ค่าเล่าเรียนมัธยมปลายสมัยนั้น 40 บาท (และถูกกว่าทางจุฬาฯ ซึ่งต้องสอบเข้าอีกต่างหาก) ธรรมศาสตร์เก็บ 20 บาทก็ยังมีกำไร เลี้ยงตัวเองได้ เพราะฉะนั้นท่านผู้ประศาสน์การพูดเอาไว้ในสมัยที่ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดีว่า ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยนี้มีทรัพย์สิน ที่ดิน มีตึกของตัวเองนั้น ก็ได้ด้วยเงินที่เก็บมาจากนักศึกษาทั้งสิ้น นักศึกษารุ่นแรก 7,094 คน ที่มาเสียค่าบำรุงในปีแรกนั้นนั่นแหละ ที่เงินของเขาและเธอซื้อที่ดินและสร้างตึกโดม ทำให้ มธก. มีความเป็นอิสระจากระบบราชการ ธรรมศาสตร์จะ “ถูกบิดเบี้ยว” และยึด ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชการ และเป็นมหาวิทยาลัย “ปิด” อย่างที่เห็นกันในปัจจุบันก็เมื่อหลัง พ.ศ. 2500 ในยุคที่บ้านเมืองเข้าสู่สมัยของการพัฒนาและลัทธิการทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่นเอง แต่ระหว่าง 2477-2500ธรรมศาสตร์เป็นอิสระและล้ำหน้าเกินยุคสมัยในเรื่องของการจัดการและการบริหาร

ทีนี้ ในแง่ของอาจารย์ผู้บรรยายเล่าเอามาจากไหน อาจารย์ประจำนั้นมีน้อยมาก อาจารย์ที่ได้รับสมัครเข้ามาช่วงแรกที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เราได้ยินชื่อสี่ท่านแรก คือ เสริม วินิจฉัยกุล, ทวี ตะเวทิกุล, วิจิตร ลุลิตานนท์ และขุนประเสริฐศุภมาตรา ที่รับอาจารย์สี่ท่านแรกเข้ามานี้เพื่อที่จะช่วยทำตำราคำสอนของมหาวิทยาลัย สองท่านแรก คือ เสริม วินิจฉัยกุล และ ทวี ตะเวทิกุล นั้น ในที่สุดได้ทุนไปเรียนต่อฝรั่งเศส เมื่อมีอาจารย์ประจำน้อย ส่วนใหญ่จึงเป็นอาจารย์พิเศษ เช่น ดิเรก ชัยนาม, ไพโรจน์ ชัยนาม, ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ส่วนใหญ่จะได้คนมีความรู้สูง มีใจรักที่มาสอน ได้คนที่อุทิศตัวเองให้แก่การศึกษา หรือไม่ก็ได้อาจารย์ฝรั่งเด่น ๆ มาก หลายคนคงเคยได้ยินชื่ออย่าง ร. แลงกาต์ ซึ่งก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาโท และเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

มหาวิทยาลัยยังมีวารสารทางวิชาการของตนเองที่มีชื่อว่า นิติสาส์น มีอาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม เป็นบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยมีแผนกคำสอนของตัวเอง แผนกนี้ขายคำสอน (ตำรา) ให้นักศึกษา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาเรียน จุดกำเนิดของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นมาจากตอนนี้ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ยกสำนักพิมพ์นิติสาส์นของท่านให้มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2483 (และแท่นพิมพ์โบราณ ซึ่งเชื่อกันว่าพิมพ์ “คำประกาศคณะราษฎร” ก็ตกเป็นสมบัติของ มธก. และสมควรอย่างยิ่งที่จะเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์)

นี่เป็นภาพทั่ว ๆ ไปของมหาวิทยาลัย ที่ลักษณะขององค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างนี้ ถ้าจะถามว่าบรรยากาศของมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ช่วงประมาณ 2477, 2478, 2479 เป็นอย่างไร คำตอบก็คือว่า คงไม่ใช่ภาพอย่างเราเห็นในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยกิจกรรม มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา มหาวิทยาลัยช่วงแรกค่อนข้างเงียบ มีคนมาเรียนประมาณวันละ 100 คน ตกบ่ายเงียบหมด จากคำสัมภาษณ์ความรู้สึกของคนรุ่นนั้น ตอนบ่าย ๆ คนหายไป กลับบ้านไป นักศึกษาถึงจะมีจำนวนเป็นพัน ๆ ส่วนใหญ่ก็อ่านคำสอนอยู่ที่บ้าน หรืออยู่ในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นไม่น่าแปลกใจอะไรเลย ถ้าเราจะดูอย่างคุณสมคิด ศรีสังคม ธรรมศาสตร์บัณฑิตคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่าไม่เคยมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ วันหนึ่งไปฟังเขาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประทับใจมากที่เห็นผู้สมัครใส่เสื้อครุยมาหาเสียง เลยสมัครเรียนธรรมศาสตร์ แล้วก็รับคำสอนที่ส่งไปอีสาน ท่านอ่านแล้วก็สอบ อยู่บ้านนอก ไกลมากต้องขี่ม้าเข้ามาในเมือง ในที่สุดก็จบ ธ.บ. เข้าทำงานกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม แล้วสอบชิงทุนไปเรียนถึงประเทศอังกฤษ นี่เป็นเส้นทางเดินของท่านและของอีกหลายคนที่มากับธรรมศาสตร์

บรรยากาศทั่วไปสงบ ต้นโพธิ์คงไม่ค่อยโตนัก ดูรูปในระยะนั้นต้นไม่โตแต่ใบหนา มีต้นจำปีอยู่ริมน้ำ มีต้นสนเรียงราย ริมแม่น้ำเปิดโล่ง แลเห็นตึกโดมโดดเด่นเป็นสง่า ตึกโดมเปิดใช้เป็นทางการเมื่อ 9 กรกฎาคม 2479 หลายคนคงทราบดีว่าผู้ออกแบบตึกโดม คือ คุณหมิว อภัยวงศ์ ท่านผู้นี้ไปเรียนหนังสือมาจากปารีส มีความคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ท่านอาจารย์ปรีดีเชิญมาช่วยออกแบบ ว่าจะทำอย่างไรดีกับตึกเก่า ๆ ให้เป็นตึกใหม่ของธรรมศาสตร์ ท่านปรีดีได้ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยใหม่ที่บริเวณท่าพระจันทร์ เป็นที่ของทหารที่จะย้ายออกไปอยู่แล้ว ท่านก็เลยเจรจาขอซื้อ ท่านก็เอาเงินค่าเล่าเรียนของนักศึกษานั่นแหละซื้อ ในปัจจุบันทั้งหมดมี 25 ไร่ 3 งาน (แล้วท่านก็เป็นผู้บริหารการศึกษาที่เฉลียวฉลาด คือบอกว่าค่อย ๆ ผ่อนใช้ เวลาผ่อนท่าน ก็ไปขอยืมเงินกระทรวงการคลังมาผ่อนใช้ ทำให้เงินที่ มธก. มีไม่หมดไปทันที) เมื่อซื้อที่ดินตรงนี้ได้ก็เชิญนายหมิว อภัยวงศ์ มาดูตึกเก่าของทหารซึ่งเป็นตึกแบบฝรั่งเหมือนกันสี่ตึก เรียงกันอยู่เป็นแถว ให้ออกแบบปรับปรุงใหม่เป็นตึกมหาวิทยาลัย ไม่ต้องทุบทิ้ง (แล้วตั้งงบประมาณมาสร้างกันใหม่อย่างที่ชอบทำกันเป็นประจำในปัจจุบัน) ท่านให้แนวทางและหลักเกณฑ์ว่า ให้ใช้การได้ทันสมัย สวยงาม คุณหมิว อภัยวงศ์ ไปยืนที่ริมน้ำเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ดูไปดูมาแล้วท่านก็เชื่อมตึกสี่ตึกให้ต่อกันตลอดแล้วใช้หลังคาวิ่งยาว แล้วก็เอาโดมใส่ขึ้นไปตรงกลาง กลายเป็นตึกโดมธรรมศาสตร์ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แปลก เด่น และงามสง่า ซึ่งจะค่อย ๆ มีชีวิตและวิญญาณขึ้นมา จนมีการตีความว่าโดมหมายถึงดินสอ หมายถึงปัญญาและความเฉียบแหลม และที่สำคัญคือเป็น “แม่” (!?)

ตรงนี้ขอแทรกในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินของ มธก. ที่ท่าพระจันทร์ (จากบทความของปรีชา สุวรรณทัต ใน ธรรมศาสตร์ 50 ปี) โดยเกิดปัญหาว่าเมื่อ มธก. ชื้อที่ดินบริเวณโรงทหารกอง พันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์จากกระทรวงกลาโหมด้วยเงิน 3 แสนบาทนั้น ได้มีการนำ เรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎร เพื่อออก พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ ก็มีปัญหาตามกระทู้ของ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สส. อุบลราชธานี ว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะโอนแก่กันได้หรือไม่นั้น ข้าพเจ้าสงสัย เพราะว่าในทางปฏิบัติที่ข้าพเจ้าเคยทราบนั้น อย่างเราไปโอนที่ดินกรมทหารให้แก่ กระทรวงธรรมการ อย่างนี้ก็หาได้ทำเป็นพระราชบัญญัติไม่”Ž

พระยามานวราชเสวี รมต. คลัง ตอบว่า “จริงอยู่ที่รายนี้เป็นของรัฐบาล แต่ว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นต่างหากนอกจากวงการของ รัฐบาล รัฐบาลที่บำรุงหรืออะไรนั้นเป็นการช่วยเหลือเป็นซับไซดีเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเป็นล่ำเป็นสันเป็น งานของรัฐบาลโดยตรง เห็นว่ามหาวิทยาลัยนี้ทำงานเลี้ยงตัวเองได้ ก็ส่งเสริมตามกำลังและความ สามารถ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าในการที่ออกพระราชบัญญัติโดยมีหลักการเช่นนั้นเป็นการชอบแล้ว เพราะเหตุว่าที่จะเอาของหลวงซึ่งใช้ในราชการนั้น จะไปให้แก่บุคคลซึ่งนับว่าเป็นเอกชน คนหนึ่งเหมือนกัน หากแต่ว่าเป็นนิติบุคคลเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นในการที่ออกพระราชบัญญัตินี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่ง เพื่อจะได้แสดงให้เห็นความเจตนาดีของรัฐบาล ที่จะบำรุงการศึกษาในวิชานี้ด้วย”

สรุปแล้ว มธก. ก็ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินนี้มาออกเป็น พ.ร.บ. เมื่อ 9 เมษายน 2478 และก็ยิ่งชี้ ให้เห็นชัดเจนว่า มธก. มีสถานะเป็น “นิติบุคคลตั้งขึ้นต่างหากแยกจากวงการของรัฐบาล” ดังที่กล่าวมาแล้วในประเด็นของกำเนิดอิสระ

นั่นคือเรื่องการบริหาร เรื่องลักษณะอิสระของมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนที่แต่เดิมมาเข้าชั้นเรียนกันน้อย แต่อย่ ๆ ไปก็จะมีคนมาเรียนมากขึ้น ๆ มีการผลิตบัณฑิตมากขึ้น ในปี 2477 พอเปิดปีแรกก็มีนักศึกษาเลยที่โอนมาและได้เป็นบัณฑิตธรรมศาสตร์ 19 คน ปีเดียวกันนั้น ทางจุฬาฯ มีบัณฑิต 82 คน ปีถัดไป 2478 ที่คุณหญิงบรรเลง ชัยนาม เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงคนแรกนั้น มีบัณฑิต 137 คน ส่วนจุฬาฯ มี 116 คน ในปี 2485 ธรรมศาสตร์มีบัณฑิต 250 คน จุฬาฯ มี 255 คน ที่เอาเรื่องการผลิตบัณฑิตมานี้ จะโยงกับเรื่องปรัชญาการศึกษาด้วย คือในแง่นี้ถ้าเราดูลักษณะของการผลิตคนที่มีความรู้ในระดับสูงในระบอบราชาธิปไตย ซึ่งเริ่มมีการเปิดขยายการศึกษา มีการตั้งโรงเรียนขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของกระทรวงทบวงกรมที่ขยายตัวและมีความต้องการข้าราชการ ถ้าจะดูจากตัวเลขของคนที่จบการศึกษาระดับสูง คนจบจะมีจำนวนพอ ๆ กับความต้องการของหน่วยราชการ จะไม่ผลิตให้เกินความต้องการ แต่ในหลักการของธรรมศาสตร์หลัง 2475 เป็นเรื่องของเสรีภาพทางการศึกษา การให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่ จะไม่มองว่าถ้ากระทรวงนี้ต้องการ 12 คน ก็ผลิตให้ 12 คน แต่ว่าจะให้จบออกไปแล้วหางานทำเอง หรือแม้กระทั่งสร้างงานของตนเองขึ้นมา อันนี้เป็นความแตกต่างของธรรมศาสตร์ คือจุดหมายเพื่อให้คนมีการศึกษามากขึ้น ในสังคมประชาธิปไตยราษฎรควรมีความรู้ระดับสูงให้เหมาะสมกับการปกครองสมัยใหม่ เป็นหลักของท่านผู้ประศาสน์การที่ว่าให้ให้ตาม ความสามารถที่เขาจะเรียนกันได้

เราจะเห็นจากบทบาทของท่านอีกต่อไปว่า เมื่อมีการตั้งโรงเรียนเตรียม มธก. ซึ่งเป็นในสมัยที่กระทรวงศึกษาธิการยกเลิกการจัดการศึกษาระดับมัธยมปลายนั้น ธรรมศาสตร์ก็จะรับนักเรียนประเภทนี้จำนวนหนึ่ง ปรากฏว่ามีนักเรียนจำนวนไม่น้อยสอบเข้าไม่ได้ และไม่มีที่เรียน ท่านก็ให้มี “ภาคสมทบ” ขึ้นโดยบอกว่าให้เขาเรียนกันเถอะ ถึงแม้จะเรียนภายใต้หลังคาจากก็ให้เรียนกัน เรียนอยู่กับพื้นติดดินด้วยซ้ำไป นี่เป็นความคิดของท่าน ไม่อย่างนั้นแล้วจะเอาคนไปไหน ให้การศึกษาจะดีกว่า (ผมคิดว่าหลักอันนี้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำต่อมาในสมัยที่คณะเศรษฐศาสตร์มีภาคค่ำ ในยุคทศวรรษ 2510และเราพยายามรื้อฟื้น ธ.บ. พิเศษขึ้นมาอีกในปี 2537-2538 แต่ไม่สำเร็จ )

ชีวิตและวิญญาณของธรรมศาสตร์ ผมอยากจะขอขนานนามยุคเริ่มแรกของ มธก. เมื่อ พ.ศ. 2477-2490/2492 ว่า “เมื่อจำปีแบ่งบาน (ใช้คำว่า ‘แบ่งบาน’) ต้นโพธิ์เติบใหญ่ ริมเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์” มหาวิทยาลัยจะค่อย ๆ มีชีวิตขึ้น ถ้าเราลองสัมภาษณ์ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก เราจะมองไม่ค่อยเห็นว่าเขามีความสัมพันธ์อย่างไรกับมหาวิทยาลัย แต่พอไปไม่กี่ปี สิ่งที่เรียกว่าชีวิตและวิญญาณจะเกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ ปีแรก 2477 เริ่มมีฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นครั้งแรกที่สนามหลวง ปีแรกนั้นยังไม่มีเพลงประจำมหาวิทยาลัย ปีที่ 2 มีแข่ง ฟุตบอลอีกที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ตอนนี้มี “เพลงประจำมหาวิทยาลัย” แล้ว คือเอาทำนองเพลงไทยเดิมของมอญดูดาว นำมาให้ขุนวิจิตรมาตราใส่เนื้อและความหมายใหม่ หลายอย่างเกิดขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ ชีวิตของมหาวิทยาลัยเริ่มขึ้น ในการสร้างสัญลักษณ์เหล่านี้ เข้าใจว่าท่านผู้ประศาสน์การคงคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ในแง่ของสถาบันการศึกษาจะต้องมีอะไรบ้าง (ไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ วันต่อวัน) เช่นเปิดเรียนนั้นเปิดวันที่เท่าไร ภาคแรกของธรรมศาสตร์เปิด 27 มิถุนายน มีความหมายมาก คือเป็นวันรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม ภาคสองเปิด 10 ธันวาคม ตรงกับวันรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 2) เป็นต้น

ท่านปรีดี พนมยงค์ ดูจะเลือกคนระดับมีความสามารถสูงมาช่วยทำงาน ถ้าจะหาสถาปนิกก็ต้องเอาอย่างนายหมิว อภัยวงศ์ ซึ่งโด่งดังมากในสมัยนั้น ถ้าจะหาคนแต่งเนื้อเพลงก็ต้องเป็นขุนวิจิตรมาตรา นักเขียน นักประพันธ์ นักการภาพยนตร์ใหญ่ ท่านเป็นผู้แต่งเนื้อร้อง “เพลงประจำมหาวิทยาลัย” ที่มีทำนอง “มอญดูดาว” ดังกล่าวข้างต้น ลองอ่านทีละประโยคจะมีความหมายในลักษณะนามธรรม (เช่น สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง) หลักการของธรรมศาสตร์กับสังคม (ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์การเมือง ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี) สีเหลืองสีแดงหมายถึงอะไร (เหลืองของเรา คือธรรมประจำจิตต์ แดงของเรา คือโลหิตอุทิศให้) คิดว่าหลายอย่างมีความหมายอย่างน่าภาคภูมิใจ โดมกลายมาเป็นสัญลักษณ์ กลายเป็นแม่ (ซึ่งแปลกดี มธก. อาจเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่เอาตึกมาเป็นสัญลักษณ์ของแม่ เป็นเพศหญิงตามประเพณีเดิม เช่น แม่น้ำ แม่ทัพ ฯลฯ) ลองสังเกตดูชีวิตและวิญญาณที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ ถามดูว่าต้นไม้อะไรในบริเวณนั้นที่มีชีวิต และวิญญาณ คำตอบก็คือ ต้นโพธิ์ ต้นจำปี (ตอนหลังอาจมีต้นหางนกยูง)

ขอตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า การสร้างสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนี้ มีลักษณะที่เป็นทางการกับที่เป็นไปตามธรรมชาติ ทางการมีธรรมจักรเป็นตราประจำของมหาวิทยาลัย แต่โดยธรรมชาตินักศึกษากำหนดขึ้นมาเองว่าโดมคือสัญลักษณ์ โดยทางการมีต้นหางนกยูงเป็นไม้ประจำมหาวิทยาลัย (ที่เกิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการในระยะหลัง) แต่โดยไม่เป็นทางการ เราก็มีต้นจำปี มีต้นโพธิ์ โดยทางการเรามีเพลงมหาวิทยาลัยคือพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” แต่โดยความรู้สึกทั่วไปเพลง “มอญดูดาว” หรือชื่อทางการว่า “เพลงประจำมหาวิทยาลัย” จะเป็นเพลงที่สำคัญและมีพลังที่สุด

จุดหนึ่งที่คิดว่าสำคัญมากในการสร้างความมีชีวิตและวิญญาณของธรรมศาสตร์ คือการตั้งมหาวิทยาลัยนิคม พูดง่าย ๆ ก็คือหอพักนั่นเอง ตอนแรกที่ตั้งขึ้นมามีนักศึกษาจำนวนน้อย ปีแรก 2478 มีคนเข้ามาพักอยู่เป็นประจำประมาณ 30 คน ตอนหลังอาจมีถึงร้อยคน มหาวิทยาลัยนิคมที่เป็นหอพักนี้อยู่ในธรรมศาสตร์ (ตรงตึกคณะรัฐศาสตร์) และจะมีอยู่ในช่วงประมาณ 2478-2481 ก็ยกเลิกไป แต่ว่ามีส่วนสร้างชีวิตของนักศึกษาขึ้นมาเป็นชีวิตนักศึกษา ที่อยู่กับมหาวิทยาลัย อยู่กับอาจารย์ผู้ดูแล

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยมีชีวิตชีวาคึกคักเลย ก็คือการเปิดเตรียมธรรมศาสตร์ อันนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการศึกษาระดับชาตินั้นได้ยกเลิกการจัดการเรียนการสอนมัธยม 7 และ 8 ไปจากโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นชั้นเตรียมก็กลายมาเป็นเตรียมจุฬาฯ และเตรียมธรรมศาสตร์ เตรียมของธรรมศาสตร์นั้นมีอยู่แปดรุ่น 2481-2490 (แล้วก็เลิกไปในขณะที่จุฬาฯ ยังมีอยู่ถึงปัจจุบัน) รับนักเรียนเข้าเรียน เริ่มคึกคักมีผู้คนมากมาย มีความสัมพันธ์กันเหนียวแน่น ลองสังเกตดูในบรรดาชมรมศิษย์เก่าทั้งหลาย จะเห็นได้ว่าพวก ตมธก. ยังเกาะกลุ่มกัน พวกนี้เป็นผู้ช่วยสร้างชีวิตให้แก่ธรรมศาสตร์ ปัจจุบันยังมีรุ่นนั้นรุ่นนี้แม้จะแก่ชราก็ยังพบปะกันอยู่เรื่อย ๆ ดังที่เราเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์

ลองดูหลักสูตรที่เขาเรียนกัน ในสมัย ตมธก. น่าอัศจรรย์ใจ เขาเรียนภาษาไทย ภาษาบาลี ศีลธรรม โบราณคดี ดุริยางค์ศาสตร์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ชวเลข พิมพ์ดีด นี่เป็นการยกตัวอย่างบางวิชาเท่านั้น ยังมีรายการวิชาอื่น ๆ อีกยืดยาว น่าสนใจที่ว่าหลักสูตรนี้สร้างขึ้นมากว้างมาก และก็น่าจะใช้การได้ในสังคมสมัยใหม่ น่าสนใจที่ให้เรียนชวเลขและพิมพ์ดีด (คล้ายๆ กับที่จำเป็นจะต้องเรียนคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน) การที่มีนักเรียนเข้ามาเพิ่มกับนักศึกษา ทำให้ธรรมศาสตร์มีชีวิตและวิญญาณมากขึ้นกว่าเดิม

ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือการจบเป็นบัณฑิตสมัยนั้น มธก. ศาสตร์มีการอบรมบัณฑิตที่เรียกว่า “การอบรมนักศึกษาก่อนรับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต” มีมาตั้งแต่ประมาณ 2481 จนกระทั่งถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันนี้พอเรียนจบ ก็ไปถ่ายรูป เตรียมรับปริญญา วันรับปริญญาก็มาที่นี่ ได้รับพระราชทานโอวาท แล้วก็เป็นอันจบพิธี แต่ในสมัยนั้น คิดว่าสร้างชีวิตและวิญญาณของคนจบธรรมศาสตร์ขึ้นมาอย่างมาก คือมีการอบรม 15 วัน เข้ามากินมานอนอยู่ในนี้ ในระหว่างกินนอนอยู่ 15 วันนั้น ก็ต้องฝึกเกี่ยวกับมารยาท ศีลธรรม วินัย การสมาคม มีการพาไปดูสถานที่ต่าง ๆ ขอยกตัวอย่างจากหนังสือที่ใช้อบรม ปี 2484 ว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง

5:30 น. ตื่นนอน
6:00 น. พละศึกษา
8:00 น. อาหารเช้า
9:00 น. เข้าห้องอบรมหรือไปชมสถานที่
12:00 น. อาหารเที่ยง
14:00 น. เข้าห้องอบรมหรือไปชมสถานที่
16:30 น. พละศึกษา
19:00 น. อาหารค่ำ
22:00 น. เข้านอน

ดังนั้นก็หมายความว่า ตื่นตีห้าครึ่ง นอนสี่ทุ่ม เป็นเวลา 15 วัน อบรมศีลธรรม มารยาท วินัย และการเข้าสมาคม การอบรมนี้นับว่าน่าสนใจมาก ตัวอย่างเช่นการอบรมของปี 2484 วันที่ 9 มีนาคม ผู้ประศาสน์การเปิดการอบรม นายกกิตติมศักดิ์แห่งมหาวิทยาลัยให้โอวาท (นายกฯ นี่ก็เหมือนกันกับนายกสภามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เพียงแต่เป็นตำแหน่งเกียรติยศเสียมากกว่า ไม่เข้ามาทำงานประจำทางบริหารวันต่อวัน) แต่ก่อนเรียกว่า “นายกคณะกรรมการมหาวิทยาลัย” และน่าสนใจมากคือ นายกคณะกรรมการฯ นี้ที่ธรรมศาสตร์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นนายกฯ ทางจุฬาฯ มีรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการเป็นนายกฯ

โปรดดูต่อไป คือวันที่ 10 ไปชมสภาผู้แทนราษฎร ในตอนบ่ายวันนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (หนึ่งในคณะราษฎรซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี) กล่าวอบรม วันที่ 11 ไปชมโรงกลั่นสุรา แล้วพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (ต่อมาคือกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีธรรมศาสตร์) กล่าวอบรม ตอนบ่ายไปชมการประปากรุงเทพฯ บ่ายไปอีก พระยามานวราชเสวีกล่าวอบรม วันต่อมาไปชมโรงงานกษาปณ์เสร็จแล้ว พระยานิติศาสตร์ไพศาลกล่าวอบรม วันต่อมาไปชมโรงฝิ่นรัฐบาลแล้ว ม.จ. สกลวรรณากร กล่าวอบรม วันต่อไปไปชมเรือนจำมหันตโทษ แล้วเจ้าพระยามหิธรกล่าวอบรม วันต่อมาไปนิคมสร้างตนเอง จังหวัดสระบุรี ชมโรงงานกระดาษ โรงไฟฟ้าสามเสน เสร็จแล้วเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศกล่าวอบรม วันต่อไปอีก ไปชมโรงพยาบาลโรคจิต แล้วพระสารสาส์นประพันธ์กล่าวอบรม วันต่อมาไปชมไปรษณีย์ โทรศัพท์ พระยาพลางกูรธรรมพิจัยกล่าวอบรม วันต่อมา ไปชมโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์กล่าวอบรม ฯลฯ คือรวมแล้วเป็นการดูงานชนิดหนึ่ง แล้วถูกอบรมแต่เช้าจนเย็น อันนี้เป็นสิ่งซึ่งทำให้เกิดชีวิตของคนที่เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต

ในแง่ของท่าน ผู้ประศาสน์การกับนักศึกษาธรรมศาสตร์เล่าเป็นอย่างไร ผมคิดว่า ด้านหนึ่งของท่านปรีดีกับธรรมศาสตร์ มีความสัมพันธ์ในฐานะที่ว่าท่านเป็นผู้ประศาสน์การ คำว่า “ประศาสน์” แปลว่า “ให้” ก็หมายความว่า ท่านเป็นผู้ให้การสถาปนา มธก. นี่เป็นความสัมพันธ์ในแง่ของการเป็นผู้ก่อตั้ง ความสัมพันธ์ของท่านกับธรรมศาสตร์จะเป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ อย่าลืมว่าเมื่อ 2477 ที่ตั้งธรรมศาสตร์ขึ้นมา ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ท่านเป็นมาตั้งแต่ปี 2476 ตลอดระยะเวลาที่เราพูดนั้น ท่านเป็นรัฐมนตรีอยู่เกือบตลอด จากมหาดไทยไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสร็จแล้วเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วก็เป็นนายกรัฐมนตรี บทบาทของท่านเกี่ยวข้องกับการเมืองการบริหารระดับสูงมาก ดังนั้นท่านผู้ประศาสน์การก็มิได้สอนหนังสือประจำอย่างท่านเคยสอนที่โรงเรียนกฎหมายมาก่อน

ดังนั้นความสัมพันธ์ของท่านกับนักศึกษานั้นเป็นความรู้สึกเชื่อและนับถือ ในแง่ที่ว่าท่านเป็นผู้ให้ ท่านไม่ได้มาสอน ไม่ได้มาพบนักศึกษาเป็นประจำอย่างอธิการบดี รองอธิการบดี หรือคณบดีในปัจจุบัน แต่ว่าท่านก็มีความสัมพันธ์กับธรรมศาสตร์และกับนักศึกษาไม่น้อย ท่านรู้จักกับนักศึกษาแม้ว่าจะไม่ได้สอน ถ้าเราอ่านจากบันทึกและการสัมภาษณ์ จะเห็นได้ว่ามีนักศึกษากลุ่มหนึ่งอาจเป็นพวกหัวกะทิที่สนใจมาก ๆ จะเข้าไปพบท่าน พูดคุยหรือปรึกษาหารือ นี่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับท่าน ดังนั้นว่าไปแล้วท่านก็ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงอย่างที่เราเห็นจากคนที่มีเวลาเต็มในการทำงาน ตำแหน่งผู้ประศาสน์การดูจะไม่ใช่ตำแหน่งบริหารแบบประจำทุกวัน ในสมัยนั้นการบริหารโดยตรงจะอยู่กับเลขาธิการ คือ ดร. เดือน บุนนาค และต่อมาจะเป็นศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ ตำแหน่งนี้ไม่มีในปัจจุบัน กลายเป็นตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายต่าง ๆ ไป

ในเรื่องความสัมพันธ์ที่ว่ามีความนับถือกันนั้น ความนับถือคงมาจากความชื่นชมในตัวท่าน ท่านเป็นนักเรียนนอก จบปริญญาเอกตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม เป็นรัฐมนตรีเมื่ออายุเพียง 32 ปี ในปี 2476 เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยอายุ 33 ปี เพราะฉะนั้นก็เป็นความชื่นชมที่ได้พบเห็น แต่อีกด้านหนึ่ง ลึกลงไปกว่านั้น คือความนิยมนับถือในวิชาความรู้ คือไม่ได้ดูเฉพาะว่าท่านมีตำแหน่ง หรือดูจากสิ่งภายนอก แต่นับถือวิชาความรู้ของท่าน ภายในความสัมพันธ์นี้จึงมิใช่ความสัมพันธ์ส่วนตัว เอาเข้าจริงแล้วท่านจะพบนักศึกษาก็คือวันที่มาอบรมบัณฑิต ท่านมากล่าวเปิดและปิดการอบรมดังที่กล่าวมาแล้ว ความนิยมชมชื่นนี้จะเห็นได้จากรูปภาพและคำบอกเล่า เช่นว่าเมื่อท่านปรีดีเข้าประตูธรรมศาสตร์มา นักศึกษาจะเฮเข้าไปแล้วแบกท่านขึ้นบ่ามาที่ตึกโดม ที่ทำงานของท่านก็คือที่ใต้ตึกโดม ปัจจุบันเป็นห้องรับรองของมหาวิทยาลัย ที่ข้างหน้ามีพระรูปรัชกาลที่ 5 ตรงนั้นคือห้องทำงานของท่าน ซึ่งปรกติท่านไม่ได้มาประจำ

อีกด้านหนึ่งความสัมพันธ์กับนักศึกษาของท่านปรีดีนั้น ผมคิดว่าอาจจะมาจากบทบาทที่ผมบอกว่าเป็นรัฐมนตรีจนกระทั่งมีตำแหน่งสูงมากเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และท่านก็มีตำแหน่งผู้ประศาสน์การมาตลอดด้วย บทบาทที่ผมคิดว่าคงทำให้นักศึกษามีความ รู้สึกผูกพันอย่างมากมาย คือบทบาทของผู้รักสันติภาพในยามสงครามโลกครั้งที่ 2 อันนี้เป็นจุดสุดยอดอีกอันหนึ่งของชีวิตการทำงานของท่าน ที่กลายเป็นผู้นำขบวนการใต้ดินเสรีไทย ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญและคุณูปการแต่เฉพาะต่อสังคมไทย แต่สำหรับธรรมศาสตร์ด้วย

เรื่องมีอยู่ว่าในการปฏิบัติงานของขบวนการเสรีไทยนั้น สถานที่ที่สำคัญของการดำเนินงานมีอยู่ สามแห่ง คือ

  1. ทำเนียบท่าช้าง (เป็นตึกเก่าใกล้สะพานพระปิ่นเกล้า และเป็นที่พำนักของท่านปรีดีในสมัยนั้น)
  2. ตึกโดม
  3. ตึกที่พักของท่านที่พระราชวังบางปะอิน (เมื่อท่านไปถวายการดูแลสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า)

ดังนั้นธรรมศาสตร์ก็มีบทบาทสำคัญมากในช่วงของเสรีไทย ตึกโดมคือสถานที่สำคัญของขบวนการสันติภาพอันนั้น มีนักศึกษาจำนวนหนึ่ง (ร่วมกับจุฬาฯ ด้วย) ได้รับการคัดเลือกจากท่านปรีดี และอาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ เพื่อส่งไปฝึกช่วยงานของเสรีไทย

ดังนั้นในตอนนี้ความสัมพันธ์สุดยอดที่ท่านปรีดีจะมีกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ นอกจากการเป็นผู้ให้ ความสามารถส่วนตัวในทางการงาน สติปัญญา ความใกล้ชิดนักศึกษาในระดับหนึ่ง บทบาทหลังก็คือบทบาทนักสันติภาพของท่าน เราจะเห็นได้ตั้งแต่แรก เมื่อมีการเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีกระแสของลัทธิชาตินิยมขวาจัด ท่านปรีดีเตือนอยู่เสมอว่า การเรียกร้องดินแดนนั้นต้องใช้สันติวิธี ไม่ใช้กำลังอาวุธ ถ้าเราเข้าไปในอินโดจีนเมื่อไรญี่ปุ่นก็จะเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ไทยไม่สามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้

จุดที่เราจะเห็นได้ชัดอีกก็คือ พระเจ้าช้างเผือก อันเป็นภาพยนตร์ที่ท่านสร้างขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ ช่วงก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา สะท้อนความคิดของท่านในเรื่องของสงครามและสันติภาพ นางเอก พระเจ้าช้างเผือก นั้นก็เป็นดาวธรรมศาสตร์ (ไพลิน นิลรังสี) หลายท่านคงได้ดูหนังเรื่องนี้ ได้เคยอ่านเรื่องราวมาแล้ว การสร้างหนัง พระเจ้าช้างเผือก มีส่วนให้นักศึกษากับท่านใกล้ชิดกันมาก การเลือกพระเอกนางเอกก็ดูตัวที่ตึกโดมนี้เอง แล้วหนังเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ก็มีบทบาทในการกอบกู้ประเทศไทยภายหลังสงครามโลกอีกด้วย นี่เป็นสารแสดงความคิดของท่านเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ท่านยืนอยู่กับสันติภาพกับทางฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าฝ่ายอักษะ ทำให้สัมพันธ์มิตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา เห็นเจตจำนงของคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งเป็นอย่างดี

บทบาทและความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของท่านปรีดีที่หลากหลาย ดำเนินมาจนถึงจุดสุดท้าย เมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 (ด้วยข้ออ้างและการใส่ร้ายป้ายสีท่านจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ) ดังที่ทราบกัน ท่านปรีดีต้องจากประเทศไทยและจากธรรมศาสตร์ไป แต่ว่าท่านปรีดียังอยู่ในความรู้สึกในฐานะผู้ให้ และผู้สร้างชีวิตและวิญญาณของธรรมศาสตร์ ยังผูกพันอยู่กับคนธรรมศาสตร์จำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้น ในยุคสมัยที่สัจจะเริ่มปรากฏเมื่อไม่นานนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ท่านปรีดีก็กลับมาเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ในฐานะของมหาบุรุษแห่งสามัญชน แต่ก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่าเกือบครึ่งศตวรรษ (ที่ท่านและครอบครัวต้องตกระกำลำบากแสนสาหัส) ที่จะทำให้สัจจะประจักษ์ขึ้นมาได้

ผมอยากจบลงด้วยการนำหนังสือ ธรรมจักร พิมพ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2493 (11 พฤษภาคม คือวันเกิดของท่านปรีดี) มีผู้เขียนท่านหนึ่งที่ใช้นามปากกาว่า “14559” กล่าวปิดยุคสมัยนั้นว่า

ครั้นเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ประมุขของมหาวิทยาลัยต้องลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ อาจารย์ถูกจับกุมคุมขัง การสอบไล่ของนักศึกษาในบางลักษณะวิชาต้องทำการสอบกันใหม่เนื่องจากกระดาษคำตอบของนักศึกษาถูกใช้เป็นเป้าสำหรับประลองความคมของดาบปลายปืน ขณะนั้นเป็นเวลาปิดสมัยการศึกษาประจำปี ซึ่งโดยปกติมหาวิทยาลัยก็เงียบเหงาอยู่แล้ว แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าและทึบทะมึน แม้ดวงอาทิตย์จะแจ่มกระจ่างปานใดก็ตาม แต่นักศึกษาที่ย่างเท้าเข้าไปในมหาวิทยาลัยในขณะนั้น ก็รู้สึกประหนึ่งว่าดวงอาทิตย์นั้นไร้แสง เพราะยอดโดมที่เคยตระหง่านท้าทายเมฆดูคล้ายประหนึ่งว่าจะพลอยเศร้าไปกับนักศึกษาด้วย เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกโดยสัญชาติญาณว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปวาระที่เขาจะต้องกัดฟันเผชิญกับมรสุมและพายุร้ายได้มาถึงแล้ว