รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย

ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

บทบาทของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันสองลักษณะ ซึ่งจักต้องพิจารณาแยกออกจากกัน

ลักษณะแรกคือ พื้นฐานความคิดของท่านที่มีต่อเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ทั้งในส่วนที่เป็นภาพรวมของประชาชาติ และในส่วนที่เกี่ยวกับสถานภาพของราษฎร

ส่วนอีกลักษณะหนึ่งนั้นเป็นกรณียกิจของท่านรัฐบุรุษอาวุโสในด้านเศรษฐกิจในช่วงเวลาสามปี ระหว่างปีพุทธศักราช 2482-2484 ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชุดแรกก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งโดยหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมดก็เป็นเรื่องการเงินการคลัง ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์สังคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย ท่านปรีดี พนมยงค์ ให้ความสำคัญต่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ (national sovereignty) ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (public welfare) และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม (socio-economic justice) ซึ่งจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ (a sense of history) ของท่านบ่งชี้ว่าเป็นความปรารถนาอันสูงสุดของประชาชาติ (national aspiration) ที่พึงจักได้รับการตอบสนองอย่างสมบูรณ์ที่สุด

ในการวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ใช้ภูมิปัญญา (wisdom) ความรอบรู้ (knowledge) และประสบการณ์พื้นฐาน (basic experience) ที่ตนเองได้แสวงหา พัฒนา และสั่งสมมาตลอดชีวิต

ดังนั้นพื้นฐานความคิดทางเศรษฐกิจของท่านปรีดี พนมยงค์ จึงกว้างขวาง ลึกซึ้ง และเข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาเศรษฐกิจไทย

พื้นฐานความคิดทางเศรษฐกิจของท่านปรีดี คือพื้นฐานของการอภิวัฒน์การปกครองแผ่นดินเมื่อปีพุทธศักราช 2475 และเป็นพื้นฐานการบริหารประเทศ ซึ่งรวมถึงการวางรากฐานประชาธิปไตยระบบรัฐสภาซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบนความเสมอภาค การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง และการกอบกู้เอกราชอธิปไตยและเกียรติภูมิของชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2

ตลอดชีวิต 83 ปีของท่าน รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ไม่เคยเปลี่ยนสาระสำคัญในพื้นฐานความคิดทางเศรษฐกิจ อีกทั้งไม่เคยคลายความสุจริตใจต่อประโยชน์ส่วนรวม

ท่านปรีดี ได้เคยเปิดเผยความรู้สึกนึกคิดต่อการอภิวัฒน์เมื่อปี 2475 ว่า

การบำรุงความสุขของราษฎรนี้ เป็นจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญคือบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

จากการพิจารณาพื้นฐานความคิดของท่านปรีดี ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าท่านรัฐบุรุษอาวุโสให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษในห้าประเด็นดังต่อไปนี้ คือ

  1. เอกราชและอธิปไตยของชาติที่จะไม่ยอมให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้อาณัติของต่างชาติ
  2. การฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท โดยราษฎรรวมตัวกันในรูป “สหกรณ์สังคมนิยม” ที่เป็น “สหกรณ์อเนกประสงค์” โดยใช้สามัคคีธรรมในการร่วมกันผลิต จำหน่าย และบริโภค ภายใต้หลักการพึ่งตนเอง
  3. ความเสมอภาคและเสรีภาพในการประกอบเศรษฐกิจของราษฎร โดยไม่ปล่อยให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน
  4. การจัดสวัสดิการสังคมเป็นหลักประกันมิให้ราษฎรอดอยาก ว่างงาน ไม่มีรายได้ และขาดการดูแลสุขภาพอนามัย ฯลฯ
  5. ใช้ประโยชน์ “เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์” ในการพัฒนาการผลิต ทั้งเพื่อการเพิ่มผลิตภาพ และเพื่อ ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยของผู้ใช้แรงงาน หรือเพื่อเป็นการทุ่นแรง

ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่ล้าสมัยสำหรับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้นว่าเศรษฐกิจของไทยจะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากในระหว่าง 50-60 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงแต่เพียง “เปลือกนอก” เท่านั้น

ท่านปรีดี ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับ “ชาติ” และ “ความรักชาติ” ไว้ว่า แม้นว่า “ชาติ” ยังจะคงอยู่ หาก “ความรักชาติ” ของบุคคลต่าง ๆ ย่อมจะแตกต่างหรือลดหลั่นกันไปตามระดับของความเห็นแก่ตัวและความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของบุคคล บุคคลใดมีความเห็นแก่ตัวมาก ความรักชาติก็ลดน้อยลง นอกจากนั้นบุคคลกลุ่มที่ผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจการเมืองและสังคมย่อมจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของชาติเป็นส่วนรวม ดังนั้นความรักชาติก็จะไม่เข้มข้นนัก ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่ากลุ่มของตนจะอยู่ได้ก็เมื่อชาติคงอยู่ จึงมีความรักชาติเพื่อประโยชน์ของตนเอง

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานและชาวนาผู้ยากจน ยกเว้นบางคนที่ยอมตนเป็นสมุนของนายทุนผู้ผูกขาด จะมีความรักชาติมากกว่ากลุ่มบุคคลผู้ครองอำนาจเศรษฐกิจการเมืองและสังคม

ในขณะเดียวกัน ท่านก็ชี้ให้เห็นว่าผู้ครองอำนาจเศรษฐกิจจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ และหากบุคคลกลุ่มดังกล่าวครองอำนาจการเมืองและมีผลประโยชน์ร่วมกับนายทุนต่างชาติ การบริหารเศรษฐกิจของประเทศก็ย่อมจะไม่คำนึงถึงเอกราชอธิปไตยโดยแท้จริง

ท่านปรีดีตระหนักว่า เศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติสัมพันธ์กัน การจัดการเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งหมายถึงการขจัดหรือการบรรเทาความทุกข์ยากของราษฎรส่วนใหญ่ การพัฒนาสาธารณูปการ การรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลัง และการพึ่งตนเองโดยไม่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามีอำนาจและอิทธิพลเหนือการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ย่อมจะส่งเสริมความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตยของชาติ

อย่างไรก็ตาม ท่านปรีดีก็เห็นความจำเป็นของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนการพึ่งพาต่างประเทศในขอบเขตอันสมควร หากจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค มิใช่การพึ่งพาในลักษณะของอาณานิคม

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสตระหนักด้วยว่า ราษฎรที่เป็นชาวนายากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ละคนและแต่ละครอบครัวขาดอำนาจที่จะต่อรองเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจกับบรรดากลุ่มนายทุน และนอกจากนั้นก็ยังขาดเงินทุน ขาดเทคโนโลยี และในหลายกรณีก็ต้องเช่าที่ดินทำกินจากนายทุน ดังนั้น “มูลค่าเพิ่ม” ที่สร้างขึ้นมาจากการผลิตจึงถูกนายทุนแบ่งปันไปเกือบหมด ซึ่งเหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้ชาวนาไทยยากจนอย่างถาวร

เพื่อการฟื้นฟูความสมดุลทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท ท่านปรีดีเสนอแนะให้ราษฎรรวมตัวกันเป็น “สหกรณ์อเนกประสงค์” ซึ่งสมาชิกจะร่วมกันจัดการในด้านการผลิต ในด้านการตลาด และในด้านการบริโภค ในลักษณะที่เป็น “หน่วยประกอบการเศรษฐกิจ” ขนานไปกับกลุ่มผู้ประกอบการเศรษฐกิจเอกชนในระบบทุนนิยม

“สหกรณ์” ในบริบทของแนวคิดของท่านปรีดีมิใช่เป็นการรวมตัวกันของสมาชิกเพื่อแสวงหาสินเชื่อ หรือเพื่อประกอบการค้าอย่างใดอย่างหนึ่งโดยประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไร หากเป็นระบบเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่มีการรวมกลุ่มประกอบการเศรษฐกิจเต็มรูปแบบของบรรดาราษฎรในพื้นที่ชนบท หรือราษฎรที่ยากจน ทั้งนี้โดยมุ่งในการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ มิใช่มุ่งแบ่งปันผลกำไร

ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวนี้อาจเรียกว่าระบบเศรษฐกิจแบบ “สหกรณ์สังคมนิยม” ซึ่งแตกต่างไปจากสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในระบบทุนนิยมภายใต้การดูแลและอุปถัมภ์ของทางราชการ

ในขณะเดียวกัน ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็สนับสนุนเสรีภาพและความเสมอภาคในการประกอบเศรษฐกิจของราษฎร ซึ่ง “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” จักพึงเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการเมืองเป็นประชาธิปไตย และในทำนองเดียวกัน หากเศรษฐกิจไม่เป็นประชาธิปไตยโดยมีกลุ่มบุคคลผูกขาดการประกอบการเศรษฐกิจ หรือมีการเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มบุคคลที่อ่อนแอกว่าทางเงินทุน เทคโนโลยี ฯลฯ แล้ว ก็เป็นการยากที่การเมืองจะเป็นประชาธิปไตย เพราะกลุ่มบุคคลที่ผูกขาดเศรษฐกิจก็จะเข้าไปผูกขาดทางการเมืองด้วย

ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่ท่านปรีดีฯ ยืนยันความเสมอภาคและการมีเสรีภาพในการประกอบการเศรษฐกิจ ท่านก็เห็นความจำเป็นที่บรรดาราษฎรผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่อ่อนแอจะต้องรวมตัวกันภายใต้ระบบเศรษฐกิจ “สหกรณ์สังคมนิยม” ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความสมดุลและโครงสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจในชาติเป็นส่วนรวม

อย่างไรก็ตาม ในสังคมใด ๆ ก็ตามย่อมจะมีกลุ่มบุคคลที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยตนเองได้ หรือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับผลกระทบจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจหรือความผันผวนอื่น ๆ ในชีวิต ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์สังคมไทยที่มีแนวความคิดในเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมโดยยืนยันว่า ราษฎรทุกคนควรจะมีหลักประกันจากรัฐบาลตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เจ็บป่วย พิการ ชราภาพ ว่างงาน และประสบภัยพิบัติใด ๆ โดยจะไม่มีการทอดทิ้งเป็นอันขาด

ท่านปรีดีได้เสนอหลักการและร่างกฎหมายว่าด้วยการประกันสวัสดิการสังคมอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นหลักการที่นานาอารยประเทศได้ยอมรับและถือปฏิบัติสืบต่อกันมานาน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในสมัยนั้นคนไทยบางกลุ่มยังมีความสับสนในเรื่องเหล่านี้ จึงทำให้การประกันสังคมในประเทศไทยต้องล่าช้าออกไปถึงครึ่งศตวรรษ

ในประเด็นสุดท้าย ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อ “เทคโนโลยี -วิทยาศาสตร์” และการค้นคว้าวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดังกล่าวในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการนี้ทำให้เศรษฐศาสตร์ของท่านมีความก้าวหน้าทันโลก

ท่านปรีดีอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงใน “พลังการผลิต” กล่าวคือมนุษย์ต้องการสินค้าและบริการเพื่อการดำรงชีพ ซึ่งการผลิตปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นก็ต้องมี “พลังการผลิต”ซึ่งประกอบด้วย “เครื่องมือและวิธีการผลิต” (เทคโนโลยี) และ “บุคคลที่สามารถทำและใช้เครื่องมือการผลิต” (นักวิทยาศาสตร์, วิศวกร ฯลฯ)

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้วิเคราะห์ต่อไปว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ก้าวหน้าไปมาก ดังนั้นหากสังคมใดไม่เปลี่ยนระบบให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว สังคมนั้นก็จะต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยสมาชิกของสังคมส่วนใหญ่จะตกอยู่ในความยากจน เพียงกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์

เมื่อเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในปีพุทธศักราช 2475 ท่านปรีดีก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีความเจริญก้าวหน้าจนกระทั่งสามารถสนองความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมได้ในทุกเรื่อง เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ทำให้ผลิตภาพในการผลิตของแรงงานเพิ่มสูงขึ้นซึ่งนอกจากจะช่วยทุ่นแรงงานแล้ว ยังลดเวลาทำงานลงไปด้วยโดยที่รายได้ไม่จำเป็นต้องลดลง นอกจากนั้นเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ก็ยังทำให้ความได้เปรียบเสียเปรียบตามธรรมชาติของแรงงานระหว่างประเทศลดลงด้วย

นอกจากนั้นท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ยังกล่าวว่าการรวมตัวเป็นสหกรณ์ของราษฎรผู้ยากจนจะทำให้มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าทันสมัย ซึ่งจะทำให้เพิ่มผลิตภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น อีกทั้งปรับปรุงการต่อรองในด้านการตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้คือทางที่จะนำให้ราษฎรหลุดพ้นจากความยากจน

อย่างไรก็ตาม ท่านปรีดีก็มองเห็นว่า เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อาจก่อให้เกิดการว่างงานได้ เพราะได้ช่วยประหยัดแรงงาน ในกรณีดังกล่าวนี้ ท่านแนะนำว่าแทนที่จะลดจำนวนคนงานลง อันจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้แรงงาน สมควรที่จะลดวันหรือลดชั่วโมงการทำงานลง เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และมีพลังงานและเวลาสำหรับดูแลครอบครัวและรับใช้กิจการสาธารณะ

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสให้ความเอาใจใส่และสนับสนุนงานค้นคว้าวิจัยเป็นอย่างยิ่ง โดยท่านเป็นผู้ดำริให้ก่อตั้งราชบัณฑิตยสถานขึ้นเมื่อปี 2476 ดังที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ของสถาบันค้นคว้าวิจัยอันมีระดับแห่งนั้น

ท่านปรีดี พนมยงค์ มีโอกาสได้รับใช้ประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของท่านในด้านการบริหารนโยบายเศรษฐกิจเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อท่านได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชุดแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2481 และอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวจนกระทั่งวันที่ 16 ธันวาคม 2484 รวมเวลาทั้งหมดสามปีเต็ม

รัฐบาลชุดดังกล่าวนี้อาจถือได้ว่าเป็น “รัฐบาลของคณะราษฎร” เต็มภาคภูมิ เพราะในจำนวนรัฐมนตรี 20 กว่านายนั้นเป็น “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เกือบทั้งหมด

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กล่าวปราศรัยแก่ราษฎรทางวิทยุกระจายเสียงถึงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในคำปราศรัยดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศให้เกิดผลดีถึงราษฎรโดยเร็วที่สุด โดยรัฐบาลกับราษฎรจะต้อง “ร่วมคิดร่วมมือกันปฏิบัติงานของชาติ ทั้งสองฝ่ายจักต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้เป็นอันขาด”Ž

สำหรับท่านปรีดีเองนั้นได้ตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร และสร้างความเสมอภาคและประชาธิปไตยแก่มวลชน

กรณียกิจของท่านรัฐบุรุษอาวุโสระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกอบด้วย การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีอากร การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน และการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย

ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาระหว่างปี 2478-2479 ถึงปี 2481 นั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับนานาประเทศ มีผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่สัญญาอยู่บนความเสมอภาค ซึ่งกล่าวได้ว่าไทยเราได้มาซึ่งอธิปไตยโดยสมบูรณ์ในทุกด้าน รวมทั้งในด้านการจัดเก็บภาษีอากรด้วย

โดยที่ระบบภาษีอากรของไทยไม่อาจปรับปรุงและพัฒนาให้สนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลได้เต็มที่ก่อนการแก้ไขสนธิสัญญาฯ ดังกล่าว อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ราษฎรผู้เสียภาษี และไม่เอื้อให้รัฐบาลมีรายได้พอเพียงสำหรับการใช้จ่ายบำรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้า ดังนั้นเมื่อได้แก้ไขสนธิสัญญาที่เป็นอุปสรรคแล้ว ท่านรัฐบุรุษอาวุโสในฐานะรัฐมนตรีคลังจึงได้ทำการปรับปรุงระบบภาษีอากรโดยมิชักช้า

อากรขาเข้าที่เดิมเก็บในอัตราตายตัวตามมูลค่านำเข้า (ที่เรียกว่า “ภาษีร้อยชักสาม” ) ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นอัตราที่สอดคล้องกับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ เช่น สินค้าประเภทใดยังประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคม ก็ลดอัตราลงมา หรือยกเว้นไม่เก็บอากรขาเข้าเสียเลย ในขณะที่ปรับอัตราอากรขาเข้าให้สูงขึ้นสำหรับสินค้านำเข้าที่เป็นของไม่จำเป็นหรือสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค

ในขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนการจัดเก็บอากรขาออกสำหรับข้าวจากการเก็บตามสภาพ เป็นการเก็บตามมูลค่าส่งออก เพื่อสนับสนุนการส่งออกข้าวในขณะนั้น

สำหรับภาษีอากรบางประเภทที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งไม่สนับสนุนการประกอบการเศรษฐกิจ ท่านปรีดีฯ ก็ได้ยกเลิกเสีย คือ ภาษีรัชชูปการ อากรค่านา อากรสวน ภาษีไร่อ้อย และภาษีไร่ยาสูบ และเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดไป ก็ได้ปรับปรุงภาษีเงินได้ ภาษีร้านค้า ภาษีธนาคาร อากรแสตมป์ อากรมหรสพ เงินช่วยบำรุงท้องที่ และเงินช่วยบำรุงการประถมศึกษา เป็นต้น

ในการปรับปรุงระบบภาษีอากรดังกล่าวนี้ ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้พิจารณาหลักการและเหตุผลต่าง ๆ ประกอบกัน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมเป็นเบื้องแรก และการจัดหารายได้ในทางที่ผู้เสียภาษีจะเดือดร้อนน้อยที่สุด หรือไม่รู้สึกเดือดร้อนเลย อีกทั้งก็ได้คำนึงถึงความสะดวกและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ ซึ่งยอมรับกันว่าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ท่านปรีดีฯ เป็นนักการคลังผู้หนึ่งที่มองเห็นคุณประโยชน์ของการจัดเก็บภาษีทางอ้อม หรืออีกนัยหนึ่งคือภาษีการบริโภค เพราะจะมีผลกระทบเฉพาะต่อผู้บริโภคเท่านั้น นอกจากนั้นก็ยังได้ดำเนินการซื้อโรงงานยาสูบของเอกชนต่างชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยแล้วให้เป็นรัฐวิสาหกิจผูกขาดเพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐ แทนที่จะให้นายทุนต่างชาติรับผลกำไรจำนวนมากต่อไป การเก็บภาษีทางอ้อมดังกล่าวนี้ นอกจากจะไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อนแล้ว ก็ยังนำรายได้เข้ารัฐจำนวนมาก

ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพเพื่อการป้องกันประเทศ อีกทั้งได้เกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ต้องมีรายจ่ายทางการทหารเพิ่มขึ้นกว่าปรกติเป็นอันมาก หากท่านรัฐบุรุษอาวุโสในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้จัดงบประมาณสนองความต้องการตามนโยบายดังกล่าวได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง โดยไม่ก่อให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางการคลังแต่ประการใด

ในด้านการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ท่านปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตัดสินใจเปลี่ยนทุนสำรองเงินตราจากปอนด์สเตอร์ลิงเป็นทองคำแท่ง ซึ่งทองคำแท่งดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งที่ซื้อในลอนดอนได้นำเข้ามาเก็บรักษาไว้ที่ห้องนิรภัยของกระทรวงการคลังในพระบรมมหาราชวัง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งที่ซื้อในสหรัฐฯ ได้ฝากเอาไว้ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ก็ยังจัดซื้อทองคำอีกจำนวนหนึ่งจากเหมืองทองคำในประเทศไทย

การเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยจากปอนด์สเตอร์ลิงไปเป็นทองคำแท่งดังกล่าวนี้เนื่องมาจากท่านปรีดีพิจารณาเห็นว่า อังกฤษซึ่งอยู่ในสถานะสงครามกับเยอรมนีในยุโรปแล้วตั้งแต่ปี 2482 มีแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะต้องเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นในเอเชียและแปซิฟิกด้วยในอนาคตอันใกล้ อันจะมีผลกระทบต่อสถานภาพของเงินปอนด์สเตอร์ลิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ประเทศไทยมีการค้าขายอย่างใกล้ชิดกับอังกฤษและบรรดาสมาชิกในเครือจักรภพอังกฤษมาเป็นเวลานาน โดยใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงเป็นเงินตราสำหรับการค้าขายดังกล่าว กล่าวคือรับการชำระหนี้เป็นเงินปอนด์และจ่ายไปเพื่อการชำระหนี้ก็เป็นเงินปอนด์ นอกจากนั้นก็ยังใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงเป็นทุนสำรองแทนทองคำแท่ง เพราะเงินปอนด์มีค่าที่แน่นอนกับทองคำ

ต่อมาในปี 2484 อังกฤษได้ออกจากมาตรฐานทองคำ ซึ่งหมายถึงว่าเงินปอนด์จะไม่มีค่าเป็นทองคำอย่างตายตัวอีกต่อไป และการนั้นทำให้ค่าของเงินปอนด์ลดลง ในขณะที่เงินบาทยังคงอยู่ในมาตรฐานทองคำตามเดิม และขณะเดียวกันไทยก็ยังมีทองคำที่ซื้อไว้ในลอนดอนเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองฯ ด้วย

เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ลดลง รายได้ที่ประเทศไทยได้รับจากการขายผลิตผลเป็นเงินปอนด์ก็แลกเป็นเงินบาทได้จำนวนน้อยลง คือจากเดิม 1 ปอนด์เคยแลกได้ 12 บาท ในช่วงนั้นก็เหลือเพียง 8-9 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงจากการขายข้าว และรายรับของรัฐบาลก็ลดลงด้วย ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองประมาณเดือนเดียว รัฐบาลไทยก็ได้ประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ และเข้าสู่มาตรฐานสเตอร์ลิง โดยเงินบาทมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่กับเงินปอนด์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มรายได้เป็นเงินบาท และเพื่อความแน่นอนในอัตราแลกเปลี่ยนที่จำเป็นสำหรับการค้าขาย พร้อมกันนั้นทุนสำรองของไทยทั้งหมดก็เปลี่ยนไปเป็นปอนด์สเตอร์ลิง

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบมานานแล้ว เห็นว่าภายใต้สถานการณ์ของโลกที่มีความไม่แน่นอนนั้น การเก็บรักษาทุนสำรองของชาติเอาไว้เป็นทองคำแท่ง น่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสม และก็ได้ดำเนินการตามนั้นเป็นผลสำเร็จก่อนที่สงครามมหาเอเชียบูรพาจะอุบัติขึ้น

สรุปการดำเนินงานในเรื่องนี้ของท่านปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังนี้คือ

  • ใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงส่วนหนึ่งที่ฝากไว้ในอังกฤษซื้อทองคำในลอนดอน แล้วขนทองคำแท่งดังกล่าวเข้ามาเก็บไว้ในเมืองไทย
  • โอนเงินปอนด์สเตอร์ลิงจากลอนดอนอีกส่วนหนึ่งไปสหรัฐอเมริกาเพื่อแลกเป็นเงินดอลลาร์และซื้อทองคำแท่งเก็บไว้ในสหรัฐฯ สองคราว
  • ยุบหลอมเหรียญบาทที่เป็นเงิน แล้วส่งเงินแท่งดังกล่าวนี้ไปขายในสหรัฐอเมริกา ได้เป็นมูลค่าประมาณ 9.5 ล้านเหรียญ

สรุปว่าในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาได้อุบัติขึ้น ขณะที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกำลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่นั้น รัฐบาลไทยมีทุนสำรองเงินตราที่เป็นทองคำ, ดอลลาร์สหรัฐฯ และปอนด์สเตอร์ลิง ดังนี้คือ

  • เงินปอนด์สเตอร์ลิงที่ลอนดอนจำนวนประมาณ 23 ล้านปอนด์
  • เงินดอลลาร์ที่สหรัฐฯ จำนวนประมาณ 2 ล้านดอลลาร์เศษ
  • ทองคำแท่งที่สหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 9 ล้านดอลลาร์เศษ
  • ทองคำแท่งที่เก็บไว้ในกรุงเทพฯ มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท หรือประมาณ 10 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง

ซึ่งรวมเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 87 ของธนบัตรที่ออกใช้ในขณะนั้นประมาณ 275 ล้านบาทเศษ สำหรับส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 13 คงจะเป็นเหรียญเงินที่ยังตกค้างอยู่ที่กระทรวงการคลัง มูลค่าประมาณ 35 ล้านบาท

เมื่อได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งระบบการเงินของประเทศก็มีความมั่นคงด้วยทุนสำรองเงินตราอันประกอบด้วยทองคำและเงินตราต่างประเทศในสกุลที่ทั่วโลกยอมรับ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ก็ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติ ซึ่งได้เคยปรารภไว้แล้วใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” เมื่อปี 2475 มาพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง

ความจริงนั้นในปี 2483-2484 ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอีกทั้งความพร้อมที่จะมีธนาคารกลางแต่ประการใด เพราะขณะนั้นมีธนาคารพาณิชย์เพียงไม่กี่แห่ง และก็เป็นธนาคารต่างชาติเสียเกือบทั้งหมด ซึ่งสามารถพึ่งตนเองได้ ในขณะที่ขอบเขตการประกอบธุรกรรมก็ยังจำกัดอยู่กับการให้บริการในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งออกและการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ นอกเหนือไปจากการรับฝากเงินและการโอนเงินซึ่งก็ยังไม่มากนัก ส่วนการอำนวยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนั้นยังอยู่ในวงแคบ ดังนั้นการจะมีธนาคารกลางเพื่อควบคุมดูแลธนาคารพาณิชย์จึงมิใช่เรื่องเร่งด่วน นอกจากนั้น สำหรับหน้าที่ปรกติของธนาคารกลางในเรื่องการออกธนบัตรและการทำหน้าที่เป็นธนาคารให้แก่รัฐบาลก็ยังไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก เพราะกระทรวงการคลังก็สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้อยู่แล้ว

สำหรับในเรื่องของความพร้อม ก็ต้องกล่าวว่าไทยเรายังไม่มีความพร้อมในการบริหารธนาคารกลางเลย และแม้กระทั่งการบริหารธนาคารพาณิชย์ก็ยังไม่มีประสบการณ์ ทั้งนี้ก็เพราะยังขาดบุคลากรสำหรับภารกิจดังกล่าว ซึ่งจะต้องใช้เวลานานปีกว่าที่จะเตรียมการให้มีความพร้อมในทุกด้าน

อย่างไรก็ตาม หากจะมองไปเบื้องหน้า ในฐานะประเทศเอกราชที่มีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมต่างชาติ การมีธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะสถาบันดังกล่าวจะมีบทบาทความรับผิดชอบเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลการเงินของชาติ ทั้งในด้านนโยบาย ในด้านการให้บริการ และในด้านการควบคุมและตรวจสอบ นอกเหนือไปจากความรับผิดชอบอื่น ๆ เช่นการออกธนบัตรและพันธบัตร การให้ความสนับสนุนเศรษฐกิจและธุรกิจโดยผ่านนโยบายการเงินที่เหมาะสม ตลอดจนการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงินและการประสานการเงินกับการคลังทั้งในนโยบายและในมาตรการ ธนาคารกลางที่จะตั้งขึ้นนั้นต้องอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ไทยอย่างสมบูรณ์

ความคิดในเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติขึ้นนี้ได้รับการคัดค้านจากหลายฝ่าย สำหรับชาวต่างประเทศที่มีธุรกิจอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ และแม้กระทั่งที่ปรึกษาการคลังของรัฐบาลเอง ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับความคิดในเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในขณะนั้น ด้วยเกรงว่าธนาคารดังกล่าวจะเข้ามาควบคุมและแทรกแซงการประกอบธุรกิจของพวกตน หรือกระทำการใด ๆ ที่อาจมีผลกระทบในทางลบต่อผลประโยชน์ของพวกตน

สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยที่เป็นคนไทยนั้น จะมองในแง่ของความไม่พร้อมในด้านบุคลากรเป็นสำคัญ เพราะงานของธนาคารกลางเป็นงานใหญ่ที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีความรู้และประสบการณ์พอเพียง

สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ตระหนักดีถึงความไม่พร้อมในด้านบุคลากร อีกทั้งก็เข้าใจดีว่าการตั้งธนาคารกลางยังมิใช่เรื่องเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เมื่อตระหนักว่าไทยจะต้องมีสถาบันการเงินระดับชาติดังกล่าวเช่นเดียวกับในประเทศอื่น ๆ ดังนั้นก็จะต้องจัดตั้งขึ้นในลักษณะเป็นขั้นตอน ซึ่งเป็นการเตรียมบุคลากรไปพร้อมกันด้วย

ภายหลังที่ได้ทำการชี้แจงและปรึกษาหารือกับที่ปรึกษากระทรวงการคลังทั้งฝรั่งและไทยจนกระทั่งเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเตรียมการต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกหัดเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความชำนาญในงานดังกล่าวแล้วสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารชาติขึ้นสมบูรณ์แบบต่อไป ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้มีหนังสือด่วน ลงวันที่ 21 กันยายน 2482 ถึงนายกรัฐมนตรี เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการเตรียมจัดตั้งธนาคารชาติไทย พร้อมทั้งเหตุผล เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยในหลักการ จึงได้ส่งเรื่องทั้งหมดให้กฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งกฤษฎีกาได้แก้ชื่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็น “ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย” อีกทั้งได้ปรับปรุงบางมาตราให้รัดกุมขึ้น จากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2482

ในพิธีเปิดสำนักงานธนาคารชาติไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ท่านปรีดีฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวสุนทรพจน์มีความตอนหนึ่งดังนี้

สำนักงานธนาคารชาติไทยนี้จะเป็นที่ก่อให้เกิดธนาคารชาติไทยขึ้นในอนาคต นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นต้นมา คณะรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญมีความปรารถนาอันแรงกล้าในอันที่จะสถาปนาการเงินของประเทศให้วัฒนาถาวรเช่นเดียวกับอารยประเทศทั้งหลาย ทั้งนี้ก็ด้วยความมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดเครดิตหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามกำลังของประเทศที่จะพึงกระทำได้ และการจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ได้ ก็จะต้องจัดให้มีธนาคารชาติไทยทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางขึ้น

อย่างไรก็ตามเพียงเวลาไม่ถึงสองปีภายหลังการดำเนินงานของสำนักงานธนาคารชาติไทยได้เริ่มขึ้น สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ผ่านกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2485 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะสงคราม อันเนื่องมาจากต้องการจะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงของญี่ปุ่น

ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ขณะนั้นได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังไปแล้ว และกำลังอยู่ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การเข้าสู่สงครามของประเทศไทยโดยเป็นพันธมิตรร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่นได้สร้างความกังวลใจในเรื่องอนาคตของประเทศชาติภายหลังสงครามที่ท่านปรีดีฯ มีความมั่นใจว่าญี่ปุ่นจะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ณ จุดนั้น ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้วางมือจากปัญหาเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง โดยเข้ารับบทบาทใหม่ที่มีความสำคัญกว่ามาก คือหัวหน้าขบวนการเสรีไทย