สุนทรกถา ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ดร.ชาญวิทย์  เกษตรศิริ

ในงานเปิดตัวห้อง สมุดอิเล็กทรอนิกส์ และ เว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์
ณ ห้องประชุม 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์
วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
เวลา 13.00 – 16.30 น.

ผมเป็นคนบ้านโป่ง ราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2484   พ่อชื่อเชิญ เกษตรศิริ (ชื่อและสกุลเดิม คือเชิง แก่นแก้ว แต่ต้องเปลี่ยนให้ “ทันสมัย” เป็นไปตามนโยบายและรัฐนิยมของรัฐบาลพิบูลสงคราม ประมาณปี 2482/83 พร้อม ๆ กับเมื่อ “สยาม” ถูกเปลี่ยนเป็น “ไทย” เมื่อ 24 มิถุนายน 2482)

พ่อเป็นคนคลองด่าน (ชื่อเดิมบางเหี้ย สมุทรปราการ) พ่อเข้ากรุง “ชุบ ตัว” เรียนจบการศึกษาชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนหลวงแรก ๆ ของสยามประเทศ   ตอนผมเกิดพ่อเป็นเทศมนตรีที่อำเภอบ้านโป่ง มีร้านค้า “ปืนบ้านโป่ง” และปีนั้นญี่ปุ่นบุก เริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกตามญี่ปุ่น และรัฐบาลไทยสมัยนั้นว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ทั้งนี้เพื่อขจัดอำนาจของจักรวรรดินิยม/อาณานิคมของฝรั่ง ให้แทนที่ด้วยจักรวรรดิญี่ปุ่นและ “มหาอานาจักรไทย”

แม่ ผมชื่อฉวีรัตน์ สกุลเดิมเอี่ยมโอภาส เป็นคนปากน้ำ แม่เป็นหญิงสมัยใหม่ หน้าตาดี รักพ่อ รักลูกๆ  แม่เรียนหนังสือที่ โรงเรียนสมุทรสตรี แล้วเข้ากรุง “ชุบตัว” เรียนโรงเรียนเบญจมราชาลัย  ไปต่อจนจบ จากโรงเรียนพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แม่เป็นพยาบาลและทำผดุงครรภ์ ครอบครัวผมมีแนว คิดอนุรักษ์นิยม

เราเป็นครอบครัวที่อ่านหนังสือ แต่ก็เป็นหนังสือที่เลือกค่าย คือ พ่ออ่าน “สยามรัฐ” และ “ชาวกรุง” แม่อ่าน “ศรีสัปดาห์” และ “สตรีสาร”  ขณะที่การอ่านของผมนอกจากการศึกษาในระบบที่โรงเรียนนารีวุฒิและ สารสิทธิพิทยาลัยแล้ว ผมยัง “ติด”นิยายของ ป.อินทรปาลิต อย่างงอมแงมไม่ว่าจะเป็น เสือใบ เสือดำ หน้ากากดำ ทาซานน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล นิกร กิมหงวน ซื้อเก็บไว้หลายร้อยเล่ม

ต่อมาผมก็เข้ามา “ชุบตัว” ในกรุงเทพฯ  สมัยนั้นเรียกว่าจังหวัดพระ นคร และยังมีจังหวัดธนบุรีคู่กัน สะพานพุทธฯ ยังเปิดและปิดได้ ปีนั้น 2498 ผมอายุ 14 เข้ามาเรียนชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ  การอ่านของผมก็ขยับมาสู่ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” “วิลาศ มณีวัต” และที่สำคัญ/ประทับใจอย่างยิ่ง คือ “รงค์ วงษ์สวรรค์” จำได้ว่าแปลกประหลาดดี ที่ให้ “น้ำค้าง” นางเอกจาก โพธาราม “เสียตัว” ตั้งแต่ ต้นเรื่อง

หลายท่านคงไม่เชื่อว่า ในชีวิตการอ่านครั้งโน้น ผมไม่รู้จัก “เสนีย์ เสาวพงศ์” หรือ “ศรีบูรพา”  ทั้ง ๆ ที่ก็รู้จัก “ก. สุรางคนางค์”  รู้ว่าพจมานนั้น แม้จะเป็น “พินิตนันท์”     ก่อนจะเป็น “สว่างวงศ์ฯ” เธอก็มีสิทธิเป็นเจ้าของ “บ้านทรายทอง”หาใช่ “หม่อมแม่” หรือ “หญิงเล็ก” พวก สว่างวงศ์ไม่ แม้จะเข้าไปครอบครองอยู่นานแสนนาน  แต่ มรดกตกทอดที่ทำไว้แต่สมัย “เจ้าคุณตา เจ้าคุณปู่”   “บ้านทรายทอง” นั้น ก็ต้องตกเป็นของพจมานอยู่วันยังค่ำ (ยังกับเรื่อง “ปราสาทเขาพระวิหาร” หรือ “พื้นที่ทับซ้อน” ยังไงอย่างงั้นแหละ เศร้า )

เมื่อไต่บันไดขึ้นไปศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2503 ผมเลือกเรียนแผนกการทูต  สมัยนั้นธรรมศาสตร์ นอกจากจะถูกบังคับเปลี่ยนชื่อจาก มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ University of Moral and Political Science (UMPS) ให้เป็นมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ หรือ Thammasat University (TU) เฉย ๆ แล้ว ยังถูกบังคับให้เลิกสถานะความเป็น “ตลาดวิชา”  อัน เป็นแหล่งผลิตกำลังคนเข้าสู่ระบบราชการและธุรกิจแบบเดิม  ธรรม ศาสตร์ยุคนั้น ซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นอธิการบดี  และ มี ดร. อดุล วิเชียรเจริญเป็นเลขาธิการ (ผู้มีอำนาจเกือบสมบูรณ์ในการบริหาร) จึงถูก “พัฒนา” ให้มีความเหมือนกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กล่าวสำหรับคณะรัฐศาสตร์ “สิงห์แดง” ของผมยุคนั้น คือแหล่งผลิตกำลังคนเข้าสู่กระทรวง มหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ  สมัยนั้นดาวดังคือ วิทย์ รายนานนท์  เพื่อนจอมเชียร์สิงห์แดง มีปรางทิพย์ ทองเจือ เป็นดรัมเมเยอร์ (น่องและขาอ่อนของเธองามเหลือเกิน) สมัยนั้นสมัคร สุนทรเวช คณะนิติฯ ไม้เบื่อไม้เมากับคณะของเรา ก็กำลังดังด้วยคารมโต้วาที และนามปากกา “นายหมอดี”  ไม้เบื่อไม้เมากับ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ ในขณะที่ชวน หลีกภัย อยู่กับ “งิ้ว ธรรมศาสตร์” อย่างเงียบๆ

ความทรงจำของธรรมศาสตร์ในยุค  “สายลม แสงแดด และยูงทอง”  ของ ผมนั้น  ถูกตัดขาดไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ทั้ง ๆ ที่ก่อตั้งมาเพียง 27 ปี  ผมเกือบไม่เคยได้ยินชื่อ ของผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง-ปรีดี พนมยงค์ พวกเราเคยคิดเพ้อเจ้อกันว่าผู้ก่อตั้งมหา วิทยาลัยแห่งนี้ คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสียด้วยซ้ำไป

ชีวิต 4 ปี ในธรรมศาสตร์ของผม แม้จะสำเร็จการศึกษาโดยสอบได้ที่ 1 เกียรตินิยมดี และรับรางวัลภูมิพลในปี 2506 (สมัยนั้นรางวัลนี้ให้ปีละหนึ่งคนเท่านั้น ให้เฉพาะคณะรัฐศาสตร์) และเริ่มทำงานครั้งแรกที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (6 เดือน) กระทรวงการต่างประเทศ (3 เดือน) ก่อนลาออกไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาในปี 2508 นั้น เต็มไปด้วยความสนุก สุข เล่น เชียร์ และเที่ยว พร้อม ๆ กับการหัดสูบบุหรี่ กินเหล้า

เราเกือบไม่สนใจการเมือง เลย ทั้ง ๆ ที่ยุคนั้นเป็น “สงครามเย็น” มีการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในจีนและอินโดจีน (เหมาเจ๋อตุงและโฮจิมินห์ คือ ปีศาจร้าย) มีรัฐประหารกองแลในลาว มีรัฐประหารสังหารโงดินห์เดียมในเวียดนามใต้ มีการลอบสังหารเคนเนดี้ในเท็กซัส และที่สำคัญมีการใช้ ม. 17 ที่ทั้งจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม สั่งประหารชีวิตผู้คนจำนวนมากด้วยการ“ยิงเป้า” โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมใด ๆ ยุคสมัยวัยรุ่นของผม เราถูกสอนให้เชื่อว่าเมืองไทยมีหรือกำลังจะมีการปกครองเป็น “ประชาธิไตยแบบไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ผมแทบไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของท่านปรีดี พนมยงค์ในฐานะมันสมองของคณะราษฎรในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475  แทบไม่รู้ว่าท่านเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ที่นำพาประเทศให้รอดพ้นจากการเป็นฝ่าย พ่ายแพ้สงครามเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคยเห็น คำว่า “ผู้ประศาสน์การ” ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในหนังสือบางเล่มในห้องสมุด (ที่แสนจะเงียบเหงา) ของคณะและมหาวิทยาลัย ที่ผมสำเร็จการศึกษาและมีความผูกพันมาจนถึงทุกวันนี้

ด้านหนึ่งต้องยกให้เป็นความสามารถของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย (ตอนนั้น F. Riggs ได้ทำให้คำว่า Thailand: A Bureaucratic Polity เป็นที่เริ่มรู้จักกันแล้ว และถ้าจำไม่ผิดดูเหมือน อ. พงศ์เพ็ญ ศกุณตราภัย (พ่อตาของ นรม. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อาจารย์รัฐศาตร์ของผมคนหนึ่ง (ที่แสนหินกระดูกคะแนน) นั่นแหละ ที่นำคำนี้มาแปลเป็นไทยๆว่า “อำมาตยาธิปไตย” ทำให้คำแปลว่า “รัฐข้าราชการ” ไม่ติดตลาด)

แม้หลายคนจะเชื่อว่า “อธิปไตย” ของอำมาตย์และระบบราชการนี้ น่าจะเริ่มจากสมัยการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 มาเห็นผล ในการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 แต่ผมก็เชื่อว่าที่เริ่มต้น จริงจัง ก็จากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณที่ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามฟื้นคืนชีพทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งเสียมากกว่า และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สืบทอดและ “พัฒนา” ต่อมา ที่สามารถลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ออกไปจนหมดสิ้น

ที่น่าประหลาดใจคือ ผมไปรู้จักท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ต่อเมื่อไป “ชุบตัว” ต่อที่สหรัฐเมริกา  เมื่อผมไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอแนลล์นั่นแหละ โดยเริ่มจากการเข้าห้องสมุดไปเจอหนังสือ งานศพนายเสียง พนมยงค์  บิดาของ ท่านปรีดี ข้างในเล่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำนา และหลังจากนั้น  ก็เริ่มตามงานอื่น ๆ ของท่านปรีดีเรื่อยมา (โดยเฉพาะจากงานของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล นักวิชาการเชลยศักดิ์)

จนกระทั่งเมื่อ ปี 2513 ผมได้ไปเที่ยวปารีส ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ท่านปรีดีได้ย้ายที่พำนักจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งท่านได้ใช้ชีวิตที่นั่นนาน 21 ปีมาพำนักที่กรุงปารีส  ประจวบ เหมาะกับเป็นเวลาเดียวกับที่มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “พระ เจ้าช้างเผือก” ที่ท่านปรีดีเป็นคนเขียนบทและอำนวยการสร้าง

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบท่าน และได้นัดสัมภาษณ์ท่านปรีดีหลังจากนั้น

ต้องขอแทรกไว้ด้วย ว่า ในเวลานั้นการย้ายที่พำนักของท่านปรีดีจาก “ม่าน ไม้ไผ่” คือประเทศจีนคอมมิวนิสต์ มาสู่มหานครปารีสนั้นเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นของชนชั้นนำฝ่ายอำมาตยาธิปไตย เป็นอย่างยิ่ง เพราะปารีสเป็นเสมือนสะพาน ที่จะทำให้การไปมาหาสู่ระหว่างคนไทยกับท่านปรีดีเป็นไปได้ง่ายขึ้น

บุคคลสำคัญคนแรก ๆ ที่เดินทางไปเยี่ยมคำนับท่านปรีดีและครอบครัว คือ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  หลัง จากนั้น อ.ป๋วย ก็ถูกใส่ร้ายว่าไปรับแผนจากหัวหน้าคอมมิวนิสต์มา เพื่อบ่อนทำลายประเทศไทย และข้อกล่าวหานี้ก็ขึ้นสูงสุดเมื่อวันที่    6  ตุลาคม 2519    ที่ รัฐไทยก่อ “อาชญากรรม” กับประชาชน (ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาวนิสิตและนักศึกษา) ของตนเอง

ในวันที่ผมไปสัมภาษณ์ท่านปรีดีนั้น ผมจำได้แม่นมาก ท่านผู้หญิงพูนศุขเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นข้าวคลุกกะปิ ผมจำได้ว่าท่านปรีดีให้สัมภาษณ์แล้วท่านผู้หญิงนั่งอยู่ด้วย เมื่อถามคำถามอะไร ท่านปรีดีก็จะตอบเป็นหลักเป็นฐานในฐานะนักกฎหมาย ท่านผู้หญิงจะเสริมให้ข้อมูลรายละเอียด มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยโดยเฉพาะปี ค.ศ. พ.ศ. และชื่อสกุล (ใครเป็นใคร ลูกเต้าเหล่าใคร แม้แต่คุณป้าสงวน ยืนยง ที่เลี้ยงผมมาที่บ้านซอยสารสินสมัยเรียนสวนกุหลาบฯและธรรมศาสตร์ ท่านก็ทราบว่าเป็นครูโรงเรียนราชินี มาก่อน) ท่านจำได้แม่นยำมาก อัศจรรย์มาก

ในฐานะอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ เมื่อคิดกลับไปถึงตอนที่สัมภาษณ์ท่าน ผมไม่เห็นอารมณ์ความเจ็บช้ำ ขุ่น เคืองแค้นของท่านเลย คือท่านจะเล่าเหตุการณ์ตามเนื้อผ้า (แม้แต่เมื่อถูกถามเรื่องกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8)

แน่นอนเราก็รู้สึกได้ว่าท่านทั้งสองเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นเหยื่อทางการเมืองที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทยสมัยใหม่ แต่ว่าความรู้สึกโกรธ เกลียด แค้น ไม่ปรากฎ ผมเองก็สัมภาษณ์คนเยอะมาก เห็นอารมณ์ ความโกรธของหลายคนที่สัมภาษณ์ บางคนด่าหรือไม่ก็ด่าฝาก   แต่กรณีของสองท่าน เราไม่เห็นสิ่งนั้น เราไม่ได้ยินเลย  นี่อาจจะใช่ “ผู้ดี”  ในความหมายของ  “ดอกไม้สด”  และ ใช่ “สุภาพบุรุษสุภาพสตรี” ในความหมายของ “ศรีบูรพา” ก็ได้กระมัง

อีก 13 ปี ต่อมา เมื่อมีการเตรียมงานฉลองกึ่งศตวรรษ 50 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2527 และในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ผมและคณะได้นัดหมายสัมภาษณ์ท่านเกี่ยวกับการต่อตั้งมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในเดือนพฤษภาคม 2526  เรา ได้มีการเตรียมการนัดหมายเป็นอย่างดี  แต่กลับกลาย เป็นว่าผมต้องไปงานพิธีเผาศพท่านปรีดีซึ่งถึงแก่กรรมในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

ผมเคยเขียนไว้ว่าผม นึกอิจฉาท่าน อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ท่านปรีดี ก่อนหน้านั้น  ท่านสามารถรับฟังเสียงสนทนาของท่า นอ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เมื่อปี 2525 ได้

หลังจากนั้นผมก็เป็นส่วนหนึ่งในการ “ขุด แต่ง ฟื้นฟู บูรณะ” ประวัติมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และประวัติท่านปรีดี พนมยงค์  ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำหนังสือ จัดงานสัมมนา เสวนาทางวิชาการ การสร้างอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ การจัดทำนิทรรศการ ฯลฯ

ในกระบวนการ “ขุดแต่ง ฟื้นฟู บูรณะ” ปรีดี พนมยงค์นั้น ถือว่าเป็นงานที่ไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกันการต่อสู้ทางความคิดอื่น ๆ ที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์การเมือง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ ที่มักกีดกันสามัญชนออกจากประวัติศาสตร์  โครงการ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ (Pridi-Phoonsuk Banomyong E-Library) และเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ (www.pridi-phoonsuk.org)  เป็นอีกหนึ่งความพยามยามในการ “ขุดแต่ง ฟื้นฟู บูรณะ” ปรีดี พนมยงค์ กับประวัติศาสตร์สังคมของบ้านเมืองนี้ขึ้นมา

กล่าวสำหรับท่านรัฐบุรุษ อาวุโส ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ท่านเป็นบุคคลตัวอย่างที่มีคุณูปการต่อสังคมและระบอบประชาธิปไตยของไทย  มีผลงานที่เป็นงานเขียนของท่าน และงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับท่านอยู่มาก  สมควรเผย แพร่ผลงานเหล่านี้ให้แพร่หลาย เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน  อีก ทั้งทางองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยังได้ประกาศยกย่องท่านให้ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำปี ค.ศ. 2000-2001

เนื่องในวาระครบรอบ 110 ปี ชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ในปี พ.ศ. 2553  คณะ กรรมการอำนวยการจัดงาน ๑๑๐ ปี รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ 2443-2553 มีดำริในการจัดงานเชิดชูเกียรติคุณ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานของท่านทั้งสอง  โครงการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ (Pridi-Phoonsuk Banomyong E-Library)  และ เว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ (www.pridi-phoonsuk.org)  จึงได้เกิดขึ้น  ซึ่ง ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามในกระบวนการฟื้นฟู บูรณะปรีดี พนมยงค์  เพื่อจัดเก็บงานเขียนและโสตทัศนวัสดุของรัฐบุรุษอาวุโส ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ตลอด จนงานเขียนที่เกี่ยวข้องในรูปอิเล็กทรอนิกส์ฉบับเต็มผลงาน  เพื่อ เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ สามารถสืบค้นความรู้ผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้อีกโสตหนึ่ง

ในส่วนของเว็บไซต์แห่งนี้ เราจะพยายามทำให้เป็นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์แบบเท่าที่จะเป็นไปได้ของท่านทั้ง สอง    ไม่ว่าจะเป็นผลงานการเขียน   ภาพ ถ่ายและคำบรรยาย  ไฟล์เสียง และภาพ เคลื่อนไหว  บทวิเคราะห์ รวมทั้งเอกสารสำคัญที่เกี่ยวเนื่องของท่านทั้งสอง   และ จะมีการพัฒนาฐานข้อมูลขึ้นมาเรื่อย ๆ

พร้อม ๆ กันไปนั้นเราก็จะมีการจัดทำเว็บไซต์บุคคลสำคัญ “นอก” ประวัติศาสตร์/ความทรงจำของประเทศแห่งนี้อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์  กุหลาบ สายประดิษฐ์  จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น

บัดนี้ได้เวลาของการแนะนำ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์

ขอเชิญ ทุกท่านรับฟังการเข้าชม และวิธีการสืบค้นข้อมูลได้ ในลำดับต่อไป สวัสดีครับ.